ยะลา​- กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง เผยโครงการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรชาวสวนยาง ดำเนินแล้วทั่วประเทศกว่า 82 % จ.ยะลา จ่ายแล้ว428 ล้านบาท

0
732

กยท.เขตภาคใต้ตอนล่าง เผยการดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (ไร่ละ 1,800 บาท) ดำเนินการไปแล้วทั่วประเทศกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ จ.ยะลา จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรไปแล้วถึง 428 ล้านบาท
1 เมษายน 62 นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่างได้เปิดเผยถึงการดำเนินการโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (ไร่ละ 1,800 บาท) โดยภาพรวมทั่วประเทศได้ดำเนินการไปแล้วถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นพร้อมกัน


นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ได้ดำเนินการเปิดแจ้งรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีเกษตรกรมาแจ้งสิทธิ์เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 794,754 ราย เนื้อที่ 7,572,506 ไร่ และจ่ายเงินไปแล้ว จำนวน 662,167 ราย เนื้อที่ 6,331,275.51 ไร่ คิดเป็น 82% ซึ่งแบ่งเป็นเจ้าของสวน 642,197 ราย เป็นเงิน 6,772 ล้านบาท คนกรีดยาง 637,767 ราย เป็นเงิน 4,238 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,010 ล้านบาท สำหรับในส่วนของจังหวัดยะลา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 26,831 ราย คิดเป็นเงินประมาณ 428 ล้านบาท โดยคิดเป็น 92% สำหรับปัญหาจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมามีหลายประเด็นด้วยกัน เช่น
1. เกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนสวนยางกับ กยท.
2. คนกรีดยางมีการเปลี่ยนแปลงคนกรีดทำให้ต้องมีการยื่นอุทธรณ์แก้ไขคนกรีด
3. ที่ตั้งสวนยางไม่ตรงกับพื้นที่ที่แจ้งไว้
4. เกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต
5. สวนยางยังไม่เปิดกรีด
และที่ค่อนข้างหนักก็คือไม่มีสวนยางในที่ดินที่แจ้งไว้ ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลต้องตรวจสอบ ในพื้นที่เกือบทุกแปลงและบางพื้นที่ก็ได้ใช้ระบบ GIS สำรวจแปลงเพื่อลดปัญหาการแจ้งข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ดำเนินการต่าง ๆ ไปแล้วสำหรับปัญหาที่มีการอุทธรณ์ต่าง ๆ ก็ได้รับการอนุมัติจาก คณะกรรมการบริหารโครงการให้จ่ายเงินได้และคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562 นี้


สำหรับในส่วนของจังหวัดยะลา ปัญหาที่พบคือเจ้าของสวนยางที่แจ้งไว้ ได้เสียชีวิตไป จึงทำให้ขั้นตอนดังกล่าวต้องส่งต่อ หรือมอบอำนาจให้กับทายาท โดยต้องทำการอุทธรณ์ โดยคณะกรรมการระดับประเทศ จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการที่ได้ยื่นไว้ก่อนหน้านี้ อีกส่วนคือ การตรวจพบพื้นที่สวนยางพาราที่ไม่เป็นไปตามที่ได้แจ้งไว้ ซึ่งทางหน่วยงาน ได้ใช้เรดาห์ดาวเทียมสำรวจพื้นที่ ตามพิกัดสวนยางพาราที่เกษตรกรแจ้งไว้ หากไม่เป็นไปตามที่แจ้ง หรือ มีสวนยางพาราไม่ครบตามจำนวน ก็จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามความจริง จึงอาจจะทำให้ขั้นตอนเกิดการล่าช้าขึ้นได้
“แต่อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ของจังหวัดยะลา นั้น สำหรับในส่วนของจังหวัดยะลา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 26,831 ราย คิดเป็นเงินประมาณ 428 ล้านบาท โดยคิดเป็น 92% และคาดว่า จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายน นี้” ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าว

ข่าว​ มูกะตา​ หะไร​ ทีมข่าว@ชายแดนใต้​ จ.ยะลา