“ชุมชนมุสลิมร่วมสร้างพระนคร” ประวัติศาสตร์ที่น้อยคนจะรู้

0
903

   โดย​ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

 เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาล่มสลายเมื่อทศวรรษที่ ๒๓๑๐ และเริ่มสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่บริเวณศูนย์กลางอำนาจเดิม ที่ราบลุ่มปากน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางของสยามประเทศครั้งนั้น ถือเป็นการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินที่ระบบการปกครองบริหาร ณ ศูนย์กลางที่ใช้การปกครองแบบรัฐโบราณแบบประเทศราชล้มเหลวไปแล้วนั้นให้ฟื้นกลับคืนขึ้นมาใหม่

ในช่วง ๑๕ ปีแห่งแผ่นดินกรุงธนบุรี โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระเจ้าแผ่นดินที่มีเชื้อสายจีนอยู่มากกว่าครึ่งนั้น ต้องส่งกองทัพไปปราบชุมนุมหรือกลุ่มการเมืองก๊กต่างๆ ที่เคยอยู่ในพระราชอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองนอกพระราชอาณาเขตที่เคยเป็นเมืองขึ้นแต่เดิม ถือเป็นภาระการสงครามตลอดรัชกาลในความพยายามกอบกู้บ้านเมืองที่ล่มสลายไปแล้วให้กลับฟื้นคืนกลับ เพื่อรวบรวมบ้านเมืองขึ้นเป็นรัฐที่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้ได้เช่นเดิมอีกครั้งหนึ่ง

  ส่วนปาตานี กลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี นั้น ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐแบบโบราณอีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ เป็นพระนครใหม่ มีศึกกับพม่าหลายครั้งตั้งแต่ ศึกเก้าทัพ ศึกท่าดินแดงและสามสบ ซึ่งพม่ามีการบัญชาการรบซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนใต้แถบ ทวาย มะริด ตะนาวศรี และส่งทัพเข้ามาทางหัวเมืองทางใต้จึงมีการสู้รบทางหัวเมืองทางใต้และเรื่อยมาจนถึงหัวเมืองมลายูในคราวนั้นเอง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งใช้สงขลาเป็นที่มั่นก็ส่งทัพเรือไปยังหัวเมืองปาตานีซึ่งเป็นภารกิจทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากการล่มสลายของบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาเมื่อ ราว พ .ศ. ๒๓๒๘-๒๓๒๙

“รัฐปาตานี” เคยอยู่ในฐานะเมืองประเทศราช แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายเสียแล้วจึงเป็นเหตุขัดแย้งเรื่องการไม่ส่งเครื่องบรรณาการในฐานะประเทศราชแก่รัฐที่เกิดใหม่แต่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาที่กรุงเทพฯ สงครามครั้งนั้นจึงได้นำปืนใหญ่พญาตานีมาไว้ ณ กรุงเทพฯ ที่นำมาใช้งานรวมกับปืนใหญ่ที่หล่อใหม่ และได้นำเอาเชื้อพระวงศ์สุลต่านปาตานีและกวาดต้อนครัวจากเมืองปาตานีมาพร้อมปืนใหญ่พญาตานี โดยกำหนดให้ผู้คนเชื้อสายเจ้าเมืองปาตานีตั้งรกรากอยู่ที่แถบหลังวัดอนงคารามหรือบริเวณสี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ไม่ไกลนักกับแถบกลุ่มชุมชนชาวมุสลิมที่เป็นขุนนางเดิมจากกรุงศรีอยุธยาและเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลเมื่อต้นกรุงฯ (“ปาตานี..สุลต่านมลายู เชื้อสายฟากิฮฺ อาลี มัลบารี” โดย อารีฟิน บินจิ อัล-ฟอฏานี (หรือพล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม) เขียนเรื่องสาแหรกตระกูลเจ้าเมืองปาตานีเดิมในยุคนั้น เชื้อสายและถิ่นฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล) แต่การตั้งถิ่นฐานภายในกำแพงพระนครนั้นยังไม่มีบันทึกที่แน่ชัดแต่อย่างใดว่ามีหรือไม่ในครั้งต้นรัชกาลที่ ๑

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่มีเอกภาพของการเมืองภายใน อันเนื่องมาจากเมืองใหญ่คือ ปาตานีได้ถูกตีแตก บ้านเมืองเสียหายและถูกกวาดต้อนผู้คนกระจายไปอยู่ตามหัวเมืองภาคใต้หลายแห่ง โดยเฉพาะทางนครศรีธรรมราช เมืองมลายูทางตอนเหนือทั้งหลายที่เป็นรอบต่อติดกับหัวเมืองสยามนั้นก็ไม่ได้มีความสงบภายในแต่อย่างใดประการหนึ่ง และมีความคิดเสมอว่าควรจะแยกตนเป็นอิสระจากสยามจึงเกิดการสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง จนราว พ.ศ. ๒๓๕๑-๒๓๕๒ ปลายรัชกาลที่ ๑ ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทางสยามจึงจัดการแบ่งแยกรัฐปาตานีเดิมออกป็น ๗ หัวเมืองและให้ขึ้นตรงกับเมืองสงขลาและเมืองนครศรีธรรมราชที่ผลัดกันควบคุมจนทำให้เกิดปัญหาในการปกครองในเวลาต่อมาจนกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อกองทัพครั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ภายหลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงษ์เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นที่สมุหพระกลาโหมและกรมท่าขวาเป็นแม่ทัพครั้งนั้นราว พ.ศ. ๒๓๗๕ สงครามกับไทรบุรีดำเนินมาจนถึง พ.ศ. ๒๓๘๒ หลังจากนั้นหัวเมืองมลายูจึงพอจะสงบบ้าง และกองทัพสยามนำเจ้าเมืองมลายูที่ไม่สวามิภักดิ์เข้ามาจำไว้พร้อมกวาดต้อนครัวจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองไทรบุรีหรือเคดาห์ เมืองกลันตัน ยะหริ่ง สตูล โดยมีบันทึกและความทรงจำจากคนเชื้อสายมลายูตามท้องถิ่นต่างๆ ว่า มีการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากมาไว้ในบริเวณท้องถิ่นฟากตะวันออกที่เมืองเริ่มขยายตัวไปทางฉะเชิงเทรา ในช่วงรัชกาลนั้นจ้างแรงงานจีนขุดคลองบางกะปิและคลองแสนแสบเชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกงเป็นเวลาถึง ๔ ปี อันเนื่องจากศึกสงครามใหญ่กับทางญวนในยุคนั้น แล้วคงนำชาวมลายูมุสลิมไปตั้งถิ่นฐานเพื่อสร้างชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อย ย่านนี้จึงเต็มไปด้วยชุมชนมุสลิมมากมายที่มีอาชีพพื้นฐานทางเกษตรกรรมมาก่อน ส่วนตัวเมืองฉะเชิงเทราบริเวณที่สวนและเมืองริมแม่น้ำนั้นก็กลายเป็นหัวเมืองที่มีชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ

สำหรับชาวมลายูที่น่าจะเป็นผู้มีความรู้หรือมีฝีมือทางช่างต่างๆ ที่อาจเคยอยู่ในราชสำนักเป็นข้าหลวงมาแต่เดิมที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นให้เข้าสังกัดที่อาสาจาม, โรงไหม และบางส่วนซึ่งมาจากเมืองระแงะไปสังกัดฝ่ายสังฆทาน ทำงานบุญให้กับเจ้าคุณตานี (เจ้าจอมมารดา กรมหมื่นสุรินทรรักษ์, เป็นพี่สาวต่างมารดากับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะกำเนิดเมื่อบิดายกทัพกลับมาจากราชการที่เมืองตานีครั้งรัชกาลที่ ๑, จดหมายหลวงอุดมสมบัติ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๔๕๘) และให้รวมกลุ่มอยู่อาศัยกับชาวมลายูในพระนครแถบใกล้โรงไหมหลวงที่ติดกับวัดชนะสงคราม อันเป็นอาณาบริเวณย่านของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งในเวลาต่อมาจึงแยกออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตรอกศิลป์บ้าง ขยายมาทางถนนบ้านแขกหรือถนนตานี ทางตึกดินใกล้ตรอกบวรรังษี มีบางส่วนที่อยู่แยกออกไปนอกเมืองแถบริมคลองมหานาค ซึ่งมีกูโบร์สำหรับฝังศพเพียงแห่งเดียวในบริเวณนี้ เพราะชุมชนมุสลิมภายในเมืองชั้นในต้องนำศพออกมาฝังที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกับชาวพุทธที่ต้องนำศพมาเผานอกอาณาบริเวณกำแพงเมืองและคูเมืองเมื่อแรกสร้างกรุงฯ เช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นับเป็นช่วงรัชกาลที่มีศึกสงครามมากและมีการเกณฑ์ครัวจากบ้านเมืองประเทศราชต่างๆ เช่น เข้ามาไว้เป็นแรงงานช่างชั้นสูงในพระนคร พร้อมทัพที่ยกกลับในศึกสงครามตามหัวเมืองประเทศราชมากมายเช่นกันในตลอดรัชกาล

…………………

ข้อมูลคัดจาก​ วลัยลักษณ์​ ทรงศิริ  เพจมูลนิธิ​ เล็กประไพ​ วิริยะพันธุ์​ อ่านฉบับเต็มทั่ www.lek praphai.org

-ภาพปก​แม่ทัพเปอรเซีย​จิตรกรรมฝาผนังเรื่องมโหศพ​ที่พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม​ กรุงเทพฯ​ (สนพ.เมืองโบราณ)

-ภาพมัสยิดต้นสน/มัสยิดมหานาค​ จาก​มัสยิดในกรุงเทพ​ สนพ.​ศิลปวัฒนธรรม​  ผช.ศร.ดร.อาดิศณ์​ อิดรีส รักษมณี