“โจ” ความเชื่อ และเป็นของขลังทางไสยศาสตร์ของชาวปักษ์ใต้

0
4837

อย่าลืมใส่ โจ
โจ เป็นวัตถุตามความเชื่อ และเป็นของขลังทางไสยศาสตร์ของชาวปักษ์ใต้ที่ควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมซึ่งยอมรับและเชื่อถือสืบต่อกันมาแต่อดีต

“โจ” เป็นเครื่องมือป้องกันขโมยที่มาลักทรัพย์สินหรือสิ่งของต่าง ๆ เช่น วัว ควาย และพืชผลที่เพาะปลูกไว้ โดยมักนำ “โจ” มาฝังหรือแขวนไว้ มีการลงอาคมเพื่อสาปแช่งผู้ลักขโมย โจ มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการใช้งาน
ประเภทแรกคือ โจฝัง จะนำโจชนิดนี้ฝังลงไปในดินบริเวณที่ต้องการจะปกป้องทรัพย์สินของตนเช่นโรงเรือน หรือคอกวัว ควาย
ประเภทที่สอง คือ โจแขวน จะแขวนโจประเภทนี้ไว้ในบริเวณที่มองเห็นง่ายเช่น ต้นไม้โดยเฉพาะต้นที่มีผลสุกเต็มต้นซึ่งเป็นที่หมายของขโมย ผู้เป็นเจ้าของผลไม้จะแขวนโจให้เห็นชัดเจน โจที่นำมาแขวนมักเป็นโจชนิดที่เรียกว่าโจหลอกซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
โจประเภทแรกที่เรียกว่า โจฝัง นี้ ผู้ทำโจหรือหมอ จะนำเอาหม้อดินใหม่ที่ไมเคยใช้มาก่อนไปขอปูนกินหมากจากหญิงมีครรภ์ 3 คน เอาปูนป้ายที่หม้อจากนั้นนำมาเขียนเป็นรูปยันต์เอาวัตถุทางไสยศาสตร์ตามตำราใส่ลงไปแล้วนำไปฝังดินในบริเวณที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีโจอีกแบบหนึ่งเรียก โจดิน เป็นโจฝังที่ใช้ไม้ขนาดเล็ก 3 อัน มาปักเป็นขาหยั่ง 3 ขา เอาหญ้าคามาพันรอบ ๆ พร้อมกับร่ายเวทมนต์ มีการลงยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์แผ่นดินทรุด” ว่ากันว่าเป็นคาถาที่ทำให้บ้านเรือนร้างได้ มีการกำหนดวันที่จะฝังโจ วันที่นิยมกันคือวันอังคารกับวันเสาร์ เพราะถือเป็นวันแข็ง ของที่ทำจะแรงและแก้อาถรรพณ์ยาก


โจ ประเภทที่สองคือ โจแขวนมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้มักเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและมีความเชื่อทางไสยศาสตร์แฝงอยู่ เพื่อช่วยเสริมให้มีความขลังและศักดิ์สิทธิตามความเชื่อของครูหมอผู้ทำโจ
โจแขวน นำไม้จากโลงศพความยาว 1 คืบ มาลงเลขยันต์ ตามตำราเสกด้วยเวทมนต์แขก (ภาษามลายู) แล้วนำไปแขวนบนกิ่งไม้ที่ไม่ต้องการให้ใครขโมยหากใครขโมยจะถูกผีตีหัวและเป็นไข้หัวโกร๋น
(โจกระบอก หรือ โจบอก ทำจากไม้ไผ่)
โจกระบอก ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ตายพราย คือ ต้นไผ่ที่ตายทั้งลำอยู่กลางกอตัดเอามาปล้องหนึ่งเอาข้อหัวท้ายออก นำมาเจาะ 4 รู นำไม้ไผ่มาเหลาให้เล็ก 2 อัน สอดให้ทะลุครบทั้ง 4 รู เป็นรูปกากบาท เขียนเลขยันต์บนผ้าขาวปิดปากกระบอกให้แน่นนิยมใช้เชือกกล้วยแขวนโจกระบอกเพราะคำว่ากล้วยเป็นคำที่มีคำเดียวความหมายเดียวเพื่อป้องกันการแก้อาถรรพณ์อีกอย่างหนึ่งเชือกกล้วยเมื่อถูกน้ำจะพองตัวจึงเป็นเคล็ดเวลาจะปลดโจหรือถอนโจผู้ทำต้องปลดเอง วิธีการทำโจกระบอกที่ต่างจากนี้ก็มี เช่น ทุบคางคกใส่ในกระบอกเพราะคางคกเมื่อตายจะพองมีกลิ่นเหม็นทำให้คนกลัวเชื่อว่าเวลาลักกินผลไม้ท้องจะพองคันเหมือนคางคก โจมีวิธีการทำแตกต่างกันแล้วแต่เกจิอาจารย์ของใครสอนไว้อย่างไร
โจพรก คำว่า “พรก” ภาษาปักษ์ใต้แปลว่ากะลามะพร้าวครูหมอจะใช้กะบามะพร้าวตัวผู้ขนาดเดียวกัน 2 ฝา (บางแห่งก็ใช้เพียงฝาเดียว) ประกบให้ปากติดกัน ใช้เชือกกล้วยร้อยรูทั้ง 2 ฝาเข้าด้วยกัน บางตำราก็ทุบคางคกใส่ไว้ข้างใน เพื่อว่าคางคกจะเน่าพองส่งกลิ่นเหม็นใครมาลักกินผลไม้ท้องไส้ก็จะทั้งพองทั้งคันไปด้วย บางตำราก็ใส่ยันต์เพียงอย่างเดียวข้างกะลาด้านนอกใช้ปูนป้ายเป็นรูปกากบาทพร้อมกับว่าคาถาเสร็จแล้วนำไปแจวนไว้ในที่ ๆ มองเห็นได้ง่าย เช่น กิ่งไม้ด้านนอกลำต้น
โจติหมา ทำจากกาบใบของต้นหมากหรือต้นหลาวชะโอนปกติชาวปักษ์ใต้จะนำมาทำเป็นภาชนะตักน้ำเรียก “หมาน้ำหรือติหมา” มีการประยุกต์นำมาทำเป็นของขลัง วิธีการคล้ายกับโจพรกคือมีการเขียนยันต์เสกคาถากำกับแล้วนำมาแขวนตามต้นไม้เรียกโจติหมา
(ติหมา หรือ ติมอ ภาษามลายู หมายถึง ภาชนะสำหรับตักน้ำ)
โจตอก ใช้เส้นผมหรือเชือกเส้นเล็ก ๆ ผู้ตรึง ผี ที่เรียกมาด้วยคาถาอาตมไว้แล้วผูกเข้ากับตะปู ตอกตะปูนั้นไว้ที่ต้นผลไม้ที่จะใส่โจ ผีที่ผูกไว้นั้นจะคอยผลักหรือดักขาขโมยให้ตกลงมาจากต้นไม้
โจหลอก เป็นโจที่ไม่ได้ลงเลขยันต์คาถาไว้ทำไว้เพียงเพื่อขู่หลอกถึงจะทำเหมือนจริงทุกประการแต่ไม่ก่อให้เกิดเพศภัยและไม่เป็นบาปหากเด็ก ๆ หรือใครเผลอเก็บผลไม้กิน โจเป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่แล้ว ดังนั้นวัตถุประสงค์การทำโจหลอกก็เพื่อต้องการขู่ไม่ให้พวกเด็ก ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่มาลักขโมยผลไม้จึงต้องแสดงเครื่องหมายให้รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้มีเจ้าของและไม่ต้องการให้ใครมาเก็บโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลักษณะอาการของผู้ถูกอาคมของโจจามคำบอกเล่าของปู่ย่าตายาย มักจะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องป่อง และอาจรุนแรงจนถึงตาย คำสาปแช่งแม้จะรู้สึกว่าน่ากลัวแต่ช่วยป้องกันการถือวิสาสะเก็บของ ๆ ผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตได้ และหากเกิดอาการดังกล่าวก็ต้องรีบไปหาเจ้าของผลไม้นั้นเพื่อขอขมาและให้ครูหมอแก้คาถาให้ แต่พวกเด็ก ๆ ก็มีคาถาแก้โจที่ผู้ใหญ่แอบสอนให้ก็คือ ต้องมีใจกล้าอาสาไปปลดโจ ก่อนปลดต้องท่อง “โจเอ๋ย โจบอก มึงออกกูเข้าโจเอ๋ย โจเจ้า มึงเข้ากูออก” เมื่อปลดโจแล้วให้เอาไปให้พ้นรัศมีต้นไม้ แต่เด็กส่วนใหญ่จะกลัวไม่กล้าลองวิธีนี้
นอกจากวิธีปลดโจแล้วยังมีอีกวิธีคือ เมื่อเก็บผลไม้มาได้ให้เอาผลไม้นั้นลอดใต้ขา 3 ครั้ง คาถาก็จะเสื่อมวิธีนี้ผู้เขียนเคยได้รับคำบอกเล่าจากคุณยายท่านหนึ่งตอนผู้เขียนยังเด็ก
โจนับเป็นความเชื่อที่ควบคุมพฤติกรรมของสังคมโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะกลัวโจกันมาก ทำให้ไม่กล้าขโมยและหากอยากกินผลไม้บ้านไหนก็ต้องเข้าไปขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของก่อนทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกเอ็นดูและเป็นการผูกสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่หรือแม้แต่คนในชุมชนเดียวกัน เป็นกุศโลบายที่วางไว้เพื่อช่วยให้คนในสังคมมีความซื่อสัตย์ไม่ลักขโมยและกลัวการทำบาป
ทุกวันนี้วิชาการใส่ โจ เสื่อมไปมาก คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักและไม่เชื่อครูหมอหรือคนที่รู้วิชาผูกโจ นับวันมีแต่จะหมดไป วันนี้โจถูกแขวนอยู่ตามพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในภาคใต้มีป้ายชื่อบอกความหมายและสรรพคุณ บทบาทความขลังจากหายเหลือเพียงวัตถุที่ถูกเรียกว่าโจ ท่านผู้อ่านสามารถแวะไปชมได้ที่หอวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

CR.นราวตี​ โลหะจินดา​ /ข้อมูล

เอกสารอ้างอิง
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, วิสุทธิ์ ถิรสัตยวงศ์. โจ. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.2539 เล่ม 4.
กรุงเทพฯ : สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด.