นราธิวาส​ – ชาวประมงบ้านบาเฆ๊ะ สุดทน ถูกทะเลซัดปิดปากคลองทำน้ำเน่า​ รอรัฐแก้​มานานกว่า 3 ปี ไม่รอท่าร่วมลงแรงใช้ถุงอัดทรายถมปากคลองเอง หวังเปิดร่องน้ำ​

0
450

#รายงานพิเศษ#​ ชาวประมงบ้านบาเฆ๊ะ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส สุดทน หลังถูกน้ำทะเลซัดทรายปิดปากคลองจนน้ำเน่ามายาวนานกว่า 3 ปี จนสัตว์น้ำ ปลา ปู กุ้ง หอย ตายจนต้องทิ้งอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง รวมตัวลงแรงเก็บเงินส่วนตัวซื้อถุงปุ๋ยกั้นน้ำทะเลซัดทรายถมปากคลอง หวังเปิดร่องน้ำให้น้ำทะเลไล่น้ำเน่า
คลองบ้านบาเฆ๊ะ ม.13 ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส ในอดีตเป็นคลองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดหล่อเลี้ยงปากท้องของชาวประมงในพื้นที่หมู่ 1 ม.7 ม.2 ม.13 รวมถึงชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงออกมาหาปู ปลา กุ้ง หอย เพื่อนำไปประกอบอาหารและส่วนหนึ่งนำออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดจนสามารถสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีกินและอยู่กันอย่างไม่อดอยากและลำบาก จนชาวบ้าน จำนวน 36 ครัวเรือน รวมตัวกันเลี้ยงปลาในกระชังสร้างรายได้ปีละหลักล้านบาท จนทำให้เกิดหมู่บ้านเข้มแข็งจนสามารถส่งผลผลิตออกจำหน่ายไปยังพื้นที่ต่างๆหลายจังหวัด


ต่อมาเมื่อปี 2557 ได้เกิดคลื่นพายุถล่มหมู่บ้านจนบ้านเรือนของชาวบ้านได้รับความเสียหายจนบางส่วนต้องย้ายครอบครัวไปอาศัยยังพื้นที่ปลอดภัย คงทิ้งไว้ชาวบ้านอีกบางส่วนที่จำเป็นต้องอยู่ต่อเพื่อสานต่ออาชีพประมง แต่ได้เกิดปัญหาน้ำทะเลซัดทรายปิดปากคลองจนน้ำไม่สามารถระบายลงทะเลได้ ส่งผลให้น้ำในลำคลองตื่นเขิงและน้ำเปลี่ยนเป็นสีดำและขาดอากาศจนทำให้สัตว์เลี้ยงนานาชนิดที่อาศัยอยู่ในลำคลองดังกล่าวตายเกลี้ยง ประกอบกับชาวบ้านเองไม่สามารถนำเรือออกทะเลผ่านปากคลองได้ จนต้องออกไปหาอาชีพรับจ้างต่างถิ่นแทน โดยตัวแทนชาวบ้านพยายามเรียกประชุมกรรมการหมู่บ้านเสนอปัญหาให้กับทางการลงมาช่วยแก้ปัญหาตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างถาวรให้กับชาวประมงได้ อีกทิ้งทางการได้พยายามตั้งงบประมาณและลงมาแก้ปัญหาให้หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ


จนล่าสุด มติในที่ประชุมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ออกมาลงแรงลงทุนควักกระเป๋าซื้อถุงปุ๋ย จำนวน 1,000 ถุง บรรจุทรายวางไว้เป็นแนวเพื่อเปิดทางให้นำทะเลไหลเข้าคลอง เพื่อไล่น้ำเน่าออกจากคลอง และเป็นการเปิดประตูคลองเพื่อให้เรือประมงขนาดเล็กได้ออกลงทะเล พร้อมทั้งได้ใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านด้วยการใช้ถุงปุ๋ยบรรจุทรายกั้นน้ำซัดทรายระยะทางด้านซ้าย 40 เมตร ด้านขวา 10 เมตร พร้อมขุดทรายออก 20 เมตร เปิดคลองและกั้นทรายถมปิดทางเข้า-ออก คลอง ได้ผลสำเร็จ รวมทั้งขอวอนทางการให้นำหินมาช่วยถมทับแนวกั้นทรายตามแนวที่ได้ทำไว้เป็นตัวอย่างไว้แล้วและจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างถาวร โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเป็นพันๆล้านอย่างที่หน่วยงานราชการบอกไว้ อีกทั้งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทางหน่วยงานรับผิดชอบได้ตั้งงบประมาณและลงมาสำรวจไว้แล้ว จนถึงปัจจุบัน ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม


นายอาแซ อาแว ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า ขณะนี้ชาวประมงบ้านบาเฆ๊ะ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากน้ำทะเลได้ซัดทรายมาปิดทางน้ำเข้าคลอง ซึ่งเป็นที่ทำมาหากินขิงชาวบ้านและใช้เป็นเส้นทางเดินเรือออกทะเล ทำให้น้ำในคลองที่เคยอุดมสมบูรณ์เน่าเสียสัตว์น้ำทั้งหลายพากันตายหมดไม่มีเหลือให้ชาวบ้านจับอีก และภายหลังจากได้ร่วมพูดคุยหามาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านแล้ว ได้มีมติตรงกันว่า ช่วยกันออกเงินซื้อถุงปุ๋ยเพื่อบรรจุทรายมากั้นเป็นแนวกั้นทราย รวม 1,000 ถุง และขอวอนทางการให้มาช่วยในเรื่องของหิน เพื่อมาถมทับแนวกั้นทรายตามที่ชาวบ้านได้นำร่องไว้แล้ว ซึ่งจะสามารถกั้นทรายและคลื่นซัดได้จริง โดยมีระยะทางเพียง 50 เมตร โดยวางตามแนวด้านขวา 10 เมตร ด้านซ้าย 40 เมตร พร้อมเปิดประตูปากคลอง 20 เมตร เพียงเท่านี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างถาวรแล้ว และถ้าเป็นไปได้อยากจะขอให้ทางการมาทำให้ภายในปีนี้เลย เนื่องจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก


“เมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ลงพื้นที่สำรวจพร้อมปักหลักหมุดแนวทางปากคลองไว้ เพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่พร้อมให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านว่าโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะสามารถดำเนินการได้ แต่ชาวบ้านตั้งหน้าตั้งตารอมา 3 ปี ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย” ในวันนี้จึงเชิญสื่อมวลชนให้มาดูสถานที่จริงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร 3 ปีที่รออยู่ คลองก็ยังไม่สามารถเปิดใช้การได้
นายอาแซ อาแว ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาตนและชาวบ้านได้รวมตัวกัน จำนวน 36 ครอบครัว ทั้ง ม.13 ม.7 ม.1 และ ม.12 เลี้ยงปลากะพงในกระชังในลำคลองแห่งนี้สร้างรายได้อย่างงาม แต่ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ทำไม่ได้ และทิ้งงบที่ลงทุนไว้ก็ไม่ได้คืน ซึ่งสมัยก่อนนั้น กรมประมงได้นำพันธ์ปลาต่างๆมาแจกให้กับชาวบ้านเลี้ยงซึ่งสามารถต่อยอดขายส่งตลาดได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งพ่อค้าคนกลางลงพื้นที่มารับซื้อถึงที่


ชาวบ้านบางรายได้สะท้อนปัญหาที่ได้รับผลกระทบกับปัญหาดังกล่าวว่า เมื่อก่อนกลางวันรับจ้างได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ก็จริง แต่ช่วงเย็นๆสามารถออกทะเลจับปลา จับมาขายได้เพิ่มอีกวันละ 500 – 1,000 บาท สามารถส่งลูกๆเรียนได้สบาย แต่ปัจจุบันนี้ออกไปรับจ้างได้แค่วันละ 300 แต่ค่าใช้จ่ายยังมากอยู่เหมือนเดิม ส่งเสียลูกเรียนไม่ไหว ลำพังจะกินไปวันๆก็แย่อยู่แล้ว หวังเพียงว่าทางการจะเห็นความสำคัญและลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังสักทีเพื่ออนาคตของเยาวชนในอนาคต.

ภาพ/ข่าว​ แวดาโอะ​ หะไร​บก.@ชายแดนใต้​ จ.นราธิวาส