พิเศษ!!ศิษย์เก่าในวังชาย เปิดตำนาน 300 ปีขนมไทยชนิดแรก “สยาม” สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ สอนอาชีพผู้ต้องขังชายเรือนจำนราฯ

0
528

ศิษย์เก่าในวังชาย เปิดตำนาน 300 ปีขนมไทยชนิดแรกของ “สยาม” สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความภาคภูมิใจรุ่นสู่รุ่นให้ผู้ต้องขังชายเรือนจำนราฯ ได้ตระหนักและสำนึกในความเป็นไทย
 14 ธันวาคม นายธรณ์ธันย์ บัวกิ่ง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส คนใหม่ พร้อมด้วยนายกาญจนวิช บัวสว่าง หรือ “อาจารย์หมูแฮม” ศิษย์เก่าโรงเรียนช่างฝีมือในวังชายในพระบรมมหาราชวัง รุ่นที่ 21 ร่วมกันเปิดตำนานขนมไทยชนิดแรกของสยาม ที่เรียกขานกันว่า ประเพณี 4 ถ้วย

ซึ่งเป็นขนมไทยชนิดแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ช่วงปีพุทธศักราช 2215 – 2220 และกว่า 300 ปีที่ผ่านมาสมัยบรรพบุรุษ  ซึ่งแผ่นดินสยามของเราสมัยนั้นไม่มีศึกสงคราม อีกทั้งธัญญาหารก็อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อส่งไปจำหน่ายยังฝั่งตะวันตกและแถบเอเชียตะวันออก ดังนั้นการเกณฑ์ผู้คนหรือที่เรียกกันว่าการลงแขกเพื่อที่จะร่วมมือกันทำงานต่างๆให้สำเร็จนั้น ก็จะต้องมีการเลี้ยงขนมให้กับผู้คนที่มาช่วย จึงได้มีการคิดค้นและทำขนมชนิดนี้ขึ้นมาและถือเป็น “หนึ่งเดียวในสยาม” ที่มีชื่อว่า “ขนมประเพณี 4 ถ้วย” เป็นการสะท้อนและบ่งบอกถึงความรักและสามัคคีของคนในสยาม

นายกาญจนวิช บัวสว่าง หรือที่ชาวนราธิวาสและหลายๆจังหวัดรู้จักกันในนาม “อาจารย์หมูแฮม” เปิดเผยว่า “ขนมชนิดนี้ต้องมีขั้นตอนหลายอย่างจึงจะสำเร็จออกมาเป็นขนมที่ทรงคุณค่าและน่าภาคภูมิใจของชาวไทยและเยาวชนรุ่นหลังเป็นยิ่งนัก ถือเป็นขนมประวัติศาสตร์ และในอดีตกาลจะใช้ในงานพิธีมงคลสมรสแบบไทย เป็นการนำไปใช้อวยพรคู่บ่าวสาว ขนมจะเป็นขนมที่รับประทานคู่กับน้ำกะทิ เหมือนเป็นการอวยพรให้ความรักของทั้งคู่หวานชื่นเหมือนน้ำกะทินั่นเอง ซึ่งขนมมีส่วนประกอบ 4 อย่างได้แก่ ไข่กบ, นกปล่อย, บัวลอยและอ้ายตื้อ คนในสมัยนี้อาจไม่เข้าใจในความหมายของชื่อแต่ถ้าพูดว่าคือเม็ดแมงลัก ข้าวตอก ลอดช่องและข้าวเหนียวดำ คงจะเข้าใจเป็นอย่างดีแน่นอน ไข่กบคือเม็ดแมงลักนำไปแช่น้ำจนพอง มีเมือกใสหุ้ม ดูคล้ายไข่กบ นกปล่อยคือลอดช่องไทย บัวลอยคือข้าวตอก ที่นำข้าวเปลือกมาคั่วไฟจนแตกออกเป็นดอกสีขาว และอ้ายตื้อคือข้าวเหนียวดำ ทั้งหมดเป็นขนมไทยๆ ใช้น้ำกะทิราด และมีชื่อบันทึกไว้ในศิลาจารึกของประวัติศาสตร์ชาติไทย”

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการถ่ายทอดขนมในตำนานของสยามครั้งนี้ และเป็นการสอนให้กับผู้ต้องขังชาย เพื่อให้ผู้ต้องขังรวมทั้งเยาวชนและคนรุ่นหลังได้ช่วยกันสืบสานและส่งต่อรุ่นสู่รุ่น มิให้เลือนหายไปจากชาติไทย อีกทั้งเพื่อให้ผู้ต้องขังได้ตระหนักและสำนึกในความเป็นไทย มีความรู้และฝีมือติดตัว เมื่อพ้นโทษออกไป สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างน่าภาคภูมิใจ จะได้เป็นคนดีที่สังคมยอมรับ ในภายภาคหน้า

ภาพ/ข่าว สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์ ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ.นราธิวาส