เพลงชาน้อง. จากภาพ “สาวนาเระ” จิตรกรรมฝาผนังโบราณ วัดปัตตานี

0
1718

จากภาพจิตรกรรม ฝาผนังโบราณ  ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงเห่ร้องแบบปักษ์ใต้ สิ่งดีดีณ.ชายแดนใต้ ที่อยากให้คุณห้ามพลาดที่จะอ่าน…..

เพลงชาน้อง  “สาวนาเระ”

๏ น้องสาวเหอ
โยบ้านกลางเมืองนาเระ
แก้มน้องหอมดังดอกเมฺละ
พี่คิดถึงโยทุกหยาม
หัวเช้าหวันฉ้าย
ใจพี่มีแต่คนงาม
คิดถึงทุกหยาม
แม่สไบครามของพี่ เห้อ ๛

๏ พี่บ่าวเหอ
อย่าลักหอมน้องพันนี้
พ่อโร้น้องอิโถกตี
หมูกพี่อย่าเข้ามาแนบ
น้องยังสาวแส้
แม่สั่งสอนไม่ให้แขบ
หมูกพี่อย่าเข้ามาแนบ
อย่าแอบทำพันนี้ เห้อ ๛

แต่งเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑

คำศัพท์
ฝั่งคนชาย
โย = (ออกเสียงโย้) อยู่
บ้านกลาง = ชื่อ ตำบลบ้านกลาง ใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
นาเระ = ชื่อของ อำเภอปะนาเระ ใน จ.ปัตตานี คนใต้เรียกสั้นว่า “นาเระ”
ดอกเมฺละ = ( ออกเสียง มล ควบ)ดอกมะลิ
หวันฉ้าย = เวลาบ่าย
หยาม = ยาม, เวลา

ฝั่งคนหญิง
พันนี้ = อย่างนี้ แบบนี้
โร้ = รู้
โถก = ถูก
หมูก = จมูก
แขบ = เร่งรีบ

ภาพประกอบ: จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดเทพนิมิตร (เดิมชื่อวัดบ้านกลาง) ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ. ปัตตานี ภาพจิตรกรรมนี้สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๐๖)

เพลงช้าน้อง คือเพลงกล่อมเด็กในภาคใต้ จำนวนคำและฉันทลักษณ์ไม่ได้ตายตัวเนื่องจากแต่งเป็นเพลงพื้นบ้าน ร้องเป็นภาษาใต้

ภาพ/ปริพันธ์ โดย เอกลักษณ์ รัตนโชติ ..