ที่ จ.นราธิวาส มีร้านขายขนมสอดไส้ ขึ้นชื่ออยู่หนึ่งร้านซึ่งใครมาก็ต้องลอง เพราะร้านนี้มีขนมสอดไส้รสชาติไม่ธรรมดา ที่คนนราธิวาส หรือคนจังหวัดใกล้เคียง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศมาเลเซีย ต่างแวะเวียนมาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งขนมสอดไส้ที่รสชาตินุ่มลิ้นแล้วยังมีขนมหวานอีกหลายอย่าง ที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธ สะท้อนผ่านขนมไทย ขนมใส่ไส้ ขนมสอดไส้ หรือขนมค่อม ภาษาใต้ เป็นเมนูขนมหวานสุดอร่อย ของหวานทานง่ายราคาย่อมเยา

แต่ใครจะรู้ถึงวิธีการที่จะได้มาซึ่งขนมชนิดนี้นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ขนมไทยสุดคลาสสิก กลิ่นหอมรสชาติแบบดั้งเดิม เมนูขนมชนิดนี้โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เป็นของกินยามว่าง
นางแวกลือซง (กะซง) สะนิหา อายุ48 ปี เจ้าของร้านดาวัน บริเวณ 5 แยก ถนนโสภาพิสัย ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส เปิดขายอาหารมายาวนานกว่า 20 ปี ภายในร้านขายซุปเนื้อเครื่องในวัว นอกจากนี้ยังมีขนมหวานนานาชนิด แต่ขนมหวานที่ขึ้นชื่อและผู้คนต่างพูดถึงใครมาใครก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากก็คือ ขนมสอดไส้ หรื ที่คนใต้เรียกว่าขนมค่อม

กะซง กล่าวว่า ตนเองและสามีเปิดร้านขายซุปเนื้อและข้าวมานานกว่า 20 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันทำให้ร้านนี้เป็นที่รู้จักของคนดาราและคนจังหวัดใกล้เคียงถ้าหากผ่านมาจังหวัดนราธิวาสก็จะมาแวะซื้อข้าวเหนียวมะม่วงเป็นของฝากและขนมค่อมที่ขายมากกว่าวันละ 800 ห่อต่อวัน  3 ห่อ20 บาท

โดยเริ่มต้นทดลองทำขนมค่อมเรียนรู้จาก YouTube และแหล่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ได้มีการปรับปรุงสูตรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันกว่าจะได้สูตรนี้ต้องลองผิดลองถูกทำทิ้งทำขว้าง จนมาถึงวันนี้ได้สูตรที่ไม่เหมือนใครและทำให้เป็นขนมสอดไส้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด

กะซงยังกล่าวอีกว่า นอกจากมีขนมค่อมแล้วที่ร้านยังมีข้าวเหนียวมะม่วงที่รสชาติดีอีก อยากให้มาลองชิมดู ซึ่งร้านดาวัน เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.
นอกจากนี้กะซงยังบอกสูตรขนมสอดไส้ฝากให้คนที่สนใจลองทำดู วัตถุดิบสำหรับทำขนมใส่ไส้ มะพร้าวขูด หัวกะทิ หางกะทิ แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเหนียวดำ แป้งข้าวเหนียวขาว เกลือ น้ำตาลทราย น้ำตาลปิ๊บ น้ำตาลมะพร้าว แบะแซ เทียนอบ (สำหรับอบควันเทียน) ใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ตามความสะดวก ใบเตยเช็ดสะอาดสำหรับทำน้ำ (หรือ น้ำอัญชันแช่เย็น หากต้องการเพิ่มสีสัน) ใบตองเช็ดสะอาดสำหรับห่อขนม ไม้สำหรับกลัด หรือไม้จิ้มฟัน


วิธีการทำขนมใส่ไส้โบราณ ขั้นตอนการทำแป้งหน้าขนม นำใบเตย มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปปั่น ใช้ผ้าขาวบาง กรองเอาแต่น้ำใบเตย ใส่แป้งข้าวเจ้า 6 ขีด ลงไปในหม้อใบใหญ่ๆ สำหรับผสมกะทิ ใส่ เกลือ 1/4 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง แป้งมัน 1/2 ถ้วยตวง แป้งข้าวเหนียว 1/4 ถ้วยตัว หัวกะทิ 2 กก. และหางกะทิ 2.5 กก. ลงไป คนทุกอย่างให้เข้ากัน ละลายจนไม่มีตะกอน ตั้งหม้อขึ้น ใช้ไฟแรง เพื่อต้มกะทิที่ผสมแป้ง และส่วนผสมต่างๆ เอาไม้พายกวนตลอดเวลา จนผ่านไป 10 นาที ก็ลดไฟลง ให้เหลือแค่ไฟอ่อนๆ (ป้องกันไหม้) กวนต่อไปเรื่อยๆ อีก 5 นาทีหลังจากนั้น ก็ใส่น้ำใบเตยลงไป ค่อยๆ ใส่ลงไปทีละน้อย แล้วก็กวนไปเรื่อยๆ คนต่อไปเรื่อยๆ อีก 15 นาที กะทิกับแป้ง จะรวมกัน จนเหนียว ปิดไฟ เอาหม้อลง ขั้นตอนการทำไส้ เริ่มต้นด้วยการ ตั้งกระทะ ยังไม่จุดไฟ ใส่น้ำตาลมะพร้าว 1 กก. และ น้ำตาลปิ๊ 8 ขีด ลงไปในกระทะ ใส่เกลือ และ ใส่แบะแซ (แบะแซะเป็นส่วนสำคัญทำให้ไส้เหนียว) ลงไปใส่น้ำลงไปด้านข้างส่วนผสม เพื่อไม่ให้น้ำตาลไหม้ติดกระทะ ใช้ไฟอ่อนๆ ไม่ต้องคนส่วนผสม รอจนน้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลปิ๊บละลายเป็นน้ำ จากนั้นใส่มะพร้าวที่ขูดแล้ว ลงไปผัด ใช้ไฟปานกลาง ระวังไหม้ ผัดจนเหนียวแห้ง พักทิ้งไว้จนเย็นสนิท ปั้นเป็นก้อนกลม ๆนำส่วนผสมไส้ไปอบด้วยควันเทียน


ขั้นตอนการทำแป้งเพื่อห่อไส้ ใช้แป้งข้าวเหนียวดำ 2 ส่วน แป้งข้าวเหนียวขาว 3 ส่วน ผสมกัน ใส่น้ำลงไปพอประมาณ
คลุกเคล้าแป้ง ให้ผสมและเข้ากันจนเป็นเนื้อเดียว นวดไปเรื่อยๆ จนแป้งไม่ติดมือจากนั้นเอาไส้ที่ห่อด้วยแป้งแล้ว ไปใส่เป็นไส้ของแป้งกะทิ ตักใส่ใบตอง ห่อใบตองเป็นทรงสูง กลัดไม้กลัดแล้วนำเข้าเตานึ่ง นำขนมที่ใส่ไส้ และห่อใบตองไว้แล้ว ไปนึ่ง ประมาณ 40 นาที
เคล็ดลับสำคัญที่จะลืมไม่ได้คนแป้ง ไปในทิศทางเดียวกันตลอด แบะแซะเป็นหัวใจหลักของการทำไส้ ขาดไม่ได้ มะพร้าวที่ผัดกับเนื้อต้องเป็นมะพร้าวใหม่เท่านั้น ใบตองกล้วยน้ำว้าเหมาะสำหรับใช้ห่อขนมใส่ไส้มากที่สุด
ภาพ/ข่าว ปทิตตา หนูสันทัด ทีมข่าว@ชายแดนใต้จ.นราธิวาส