ประวัติศาสตร์สตูล ฉบับย่อ

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สตูลเป็นเพียงตำบลเล็กๆของเมืองไทรบุรี ถูกเรียกว่า “มูเก็มสโตย”แปลว่าตำบลกระท้อน เพราะดินแดนแถบนี้มีตันกระท้อนขึ้นอยู่หนาแน่น มูเก็มสโตยเริ่มมีความสำคัญขึ้นในปี 2356 เมื่อราชสำนักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีคำสั่งให้พระยาอภัยนุราช ( ตนกูบิสนู ) รายามูดาหรือปลัดเมืองไทรบุรี ย้ายมาปกครองที่นี่ เพื่อแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างพี่น้องกับพระยาไทรบุรีปะแงรันผู้เป็นพี่ชาย

จากตำแหน่งรายามูดาของเมืองใหญ่ที่มีประชากรเกือบแสนคน มาเป็นเจ้าเมืองเล็กๆที่มีประชากรแค่หยิบมือ มีฐานะเป็นตำบลที่ห่างไกลแห่งหนึ่งเท่านั้น เป็นเรื่องกระทบจิตใจเป็นอย่างมาก ตนกูบิสนูเสียชีวิตในอีก 2 ปีต่อมา จากนั้นสตูลจึงร้างผู้ปกครองนานถึง 24 ปี

ต่อมาพระยาไทรบุรีปะแงรันกลับแข็งเมืองมีใจฝักใฝ่พม่า พระยานคร( น้อย )เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้กำกับดูแลเมืองไทรบุรีจึงยกทัพไปปราบในปี 2364. ปะแงรันหนีไปพึ่งอังกฤษที่ปีนังและอพยพไปมะละกาในเวลาต่อมา ครั้นถึงปี 2381 บุตรหลานปะแงรันร่วมมือกันยกทัพมาตีไทรบุรีที่สยามยึดครองไว้ได้ และยกทัพหลายทางมาตีตอนใต้ของสยาม ทางบกยกเข้าตีสงขลา ทางเรือยกขึ้นมาตีเมืองตรังได้อีกทางหนึ่ง เมื่อตีตรังได้แล้วก็ย้อนกลับมาขึ้นฝั่งที่สตูล. เพื่อเดินเท้าไปตีพัทลุงต่อ แม้ฝ่ายกบถไทรบุรีจะพ่ายแพ้ในที่สุด แต่ระหว่างสงครามบ้านเรือนชาวสตูลถูกเผายับเยิน ผู้คนต้องหนีไปหลบซ่อนในป่าเพื่อความปลอดภัย

หลังศึกไทรบุรีครั้งนั้น ในปี 2382 รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้แบ่งไทรบุรีออกเป็น 3 เมือง คือเมืองไทรบุรีที่อลอร์สตาร์ เปอร์ลิส และสตูล โปรดให้ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บบุตรชายคนโตของตนกูบิสนูมาปกครองสตูล ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บรวบรวมผู้คนสร้างเมืองจนเป็นที่รู้จักของพ่อค้าวานิช มีชื่อเสียงในหมู่คนต่างชาติ กลายเป็นจุดหมายหนึ่งในการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพทั้งชาวจีน ชวามลายูและชาวชมพูทวีป เมืองใหม่ที่ตนกูมูฮัมหมัดสร้างขึ้นนี้ ท่านตั้งชื่อว่า “นครีสโตยมำบังสังคารา” ( Negeri Satun Mumbang Segara ) แปลว่า”สตูลเมืองแห่งพระสมุทรเทวา”

……………………………………………………………

บางส่วนของหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับพิเศษข้างต้นนี้คือเนื้อหาประวัติศาสตร์สตูลฉบับย่อสั้นที่สุดที่ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ พ.ศ.2356 ถึง 2560 มีความยาวเพียงหน้าครึ่งA4 ที่นำลงตีพิมพ์ในหนังสือโปรโมทการท่องเที่ยว 5 เมืองเก่าอันดามัน อันประกอบด้วยจังหวัดสตูล ตรัง พังงา กระบี่ และภูเก็ต หนังสือจะถูกตีพิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ ภาษาละ 1 เล่ม เพื่อแจกให้แก่นักท่องเที่ยว

ตัวหนังสือกว้างยาว 9”x9” หนา 165 หน้าไม่รวมปก ทุกจังหวัดมีเนื้อหา 4 หัวข้อคือ 1) ประวัติศาสตร์ 2)วิถีชีวิตวัฒนธรรม 3)สถาปัตยกรรม 4)เส้นทางท่องเที่ยว โดยมีคุณสุรจิต จามรมาน นักเขียนสารคดีและช่างภาพมือทองของ อสท.เป็นบรรณาธิการ และเป็นผู้เขียนหัวข้อที่ 4 คือเส้นทางท่องเที่ยวของทุกจังหวัด มีอาจารย์ปริญญา ชูแก้ว สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการบูรณะอาคารโบราณในเมืองเก่าเป็นผู้เขียนหัวข้อที่ 3-สถาปัตยกรรมของทุกจังหวัด. สำหรับหัวข้อประวัติศาสตร์ ใช้นักประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัดเป็นผู้เขียน บรรณาธิการ คุณศมานนท์ พฤกษพิเนตเป็นผู้เขียนในหัวข้อประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตวัฒนธรรมสตูล

หนังสือดีๆเล่มนี้เป็นผลงานของสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และนวัตกรรมการจัดการท่องเที่ยว 5 เมืองเก่าอันดามัน จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมหกรรม “ร้อยเรื่องเมืองเก่าอันดามัน” ในวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายนนี้ที่ศูนย์การค้าไลม์ไลท์ อเวนิว ภูเก็ต

ขอบคุณ/ เพจประวัติศาสตร์สตูล/