เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 61  ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยัง บ้านพักนายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง จ.ยะลา เพื่อมาสอบถามถึงเมนู “ข้าวหลามทุเรียน” ที่ให้ อส.ทำออกมาแจกจ่ายให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา และ ประชาชน หลังเกิดไอเดียทำข้าวหลามทุเรียน จนเป็นที่ถูกปากติดใจของผู้ที่ได้ลิ้มลองรสชาด ในช่วงพบปะกาแฟยามเช้าที่บ้านพักนายอำเภอเบตง

 

นายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง  ได้บ้าน จัดให้พามาชม ขั้นตอนการทำข้าวหลาม บริเวณข้างบ้านพัก ที่ อส.ได้มีการจัดเตรียมวัตถุดิบ อุปกรณ์ไว้พร้อม ทั้งทุเรียนพันธ์พวงมณี และหมอนทอง ที่สุกงอม ถูก แกะ และแพ็คไว้อย่างดี เพื่อสำหรับเป็นหัวใจหลัก ในการผสมผสานกับข้าวเหนียวที่ใช้ทำข้าวหลาม

นอกจากนี้ นายดำรงค์  ได้โชว์ข้าวหลามที่เผาสุกแล้วมาแกะออกให้สื่อมวลชนและชาวบ้านได้ชิม พบว่าเนื้อข้าวหลามห่อหุ้มด้วยเยื่อไผ่รัดไว้อย่างสวยงาม หลังจากที่ผ่านการเผาด้วยถ่านไม้จนสุกได้ที่ พร้อมกับโชว์ผสมข้าวเหนี่ยวและเนื้อทุเรียนที่คลุกเคล้าลงในกระบอก

นายดำรงค์  บอกอีกว่า ส่วนประกอบการทำข้าวหลามไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนผสมก็มีเพียงข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำ กะทิสด เกลือ น้ำตาลทราย ถั่วดำเพียงแค่นี้ ก็สามารถนำมาทำข้าวหลามได้แล้ว แต่ที่สำคัญคือกระบอกไม้ไผ่ ต้องเป็นไผ่ข้าวหลาม หรือไผ่สีสุก เนื่องจากมีเยื่อไผ่ที่หนา และใบตองสดสำหรับจุกอุดปากกระบอกและนำเครื่องปรุงทุกอย่างมาผสมให้เข้ากัน กะเกณฑ์ความหวานหรือเค็ม มากน้อยแล้วแต่ความชอบหรือตามสูตรสำเร็จของแต่ละคน

อย่างวันนี้เป็นการทำ ข้าวหลามทุเรียนพวงมณี เมื่อทำการกรอกส่วนผสมลงไปในกระบอกไม้ไผ่ จนน้ำกะทิเริ่มเอ่อปากกระบอก จากนั้นนำไปวางและใช้ใบตองปิดปากกระบอกไม้ไผ่ไว้ เพื่อป้องกันเศษผงจากถ่านไฟตกลงไปในกระบอก

การย่างข้าวหลามใช้ไม้ยางมาทำฟืนเผาข้าวหลามควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้สม่ำเสมอคงที่ วิธีแบบนี้ทำให้เนื้อข้าวหลามสุกเสมอกันทั้งกระบอกและสำคัญคือประหยัดเชื้อเพลิง วัสดุเชื้อเพลิงหาได้ทั่วไปไม่ต้องซื้อ

นายดำรงค์  บอกอีกว่า ช่วงนี้ผลไม้ที่กำลังเป็นกระแส จนราคาฉุดไว้ไม่อยู่ ทั้งไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะทุเรียน ช่วงนี้กลายเป็นผลไม้ยอดนิยม ในโลกออนไลน์เรียกว่าใครไม่ได้ทานคงไม่ได้แล้ว ซึ่งอำเภอเบตง เป็นเมืองผลไม้ เมื่อจะทำข้าวหลามทั้งที ต้องไม่ธรรมดา ทุเรียนต้องเป็นทุเรียน พวงมณี คงเป็นเครื่องกระรันตีว่านี่คือ เมืองเบตง

และยัง กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุเรียนพันธ์พวงมณีเบตง เดิมชื่อทุเรียนมณี เวลาติดผลจะเป็นพวง 3 – 7 ผล เลยถูกตั้งชื่อว่า ทุเรียนพวงมณี มีขนาดเล็ก น้ำหนักผลเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ยระหว่าง 1.3 – 1.8 กิโลกรัม ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซีย ทุเรียนพวงมณีเบตง จะปลูกตามภูเขาของชาวสวนในพื้นที่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากเป็นทุเรียนหลงฤดูฟ้าฝน จะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม จึงกลายเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรสชาติของทุเรียนพวงมณี เนื่องจากเนื้อจะสุกละเอียด เหนียวและนุ่ม รสชาติหวาน มัน มีกลิ่นหอม รับประทานอร่อยมาก  นายดำรงค์ กล่าว

ข่าว…เจษฎา สิริโยทัย ทีมข่าว@ชายแดนใต้ อ.เบตง จ.ยะลา