มี “กูเด็น”  ( Kudin ) 3 ท่านในประวัติศาสตร์สตูลที่อาจทำให้เราสับสน  ทั้งสามเกี่ยวข้องกับเมืองนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ก่อนจะทำความรู้จักกับคฤหาสน์ยูดินี  เรามารู้จัก”กูเด็น”ทั้งสามก่อน

1.ท่านแรกคือ ตนกูกูเด็น ( Tunku Kudin ) แห่งโกตาบูกิตปินัง ( Kota Bukit Pinang ) ในไทรบุรี. ตนกูกูเด็นท่านนี้เป็นหลานชายของตนกูปะแงรัน เป็นผู้นำทัพเข้าโจมตีไทรบุรีที่อยู่ในการปกครองของพระยาอภัยธิเบศร์ ( แสง ) เมื่อปี 2374 ยึดไทรบุรีนานนับเดือนก่อนจะพ่ายแพ้ในที่สุด ตนกูกูเด็นตายในสนามรบที่ป้อมบูกิตปีนัง ( Kota Bukit Penang ) ซึ่งเป็นชื่อวังของท่านเอง อยู่ในรัฐเคดาห์  ปัจจุบันป้อมยังคงอยู่ในสภาพชำรุดหักพัง (ดูภาพที่คอมเม้นท์ )

2.ท่านที่สองคือ ตนกูบาฮารุดดิน หรือกูเด็นบินกูแมะ ( Tunku Baharuddin / Kudin Bin Ku Meh ) หรือพระอินทรวิไชย , พระยาอินทรวิไชย และบรรดาศักดิ์สุดท้ายคือมหาอำมาตย์ตรี พระยาภูมินารถภักดี ( 2391 – 2475 ) ปกครองสตูลระหว่างปี 2440 – 2459

3.ท่านสุดท้ายคือ Tunku Kudin ที่เป็นผู้สร้างคฤหาสน์ยูดินี หรือUdini House  ท่านนี้เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ไทยมากกว่าที่เราเคยรู้

ตนกูกูเด็นมีชื่อจริงว่า Tunku Dhiauddin ibni Almarhum Sultan Zainal Rashid Al-Mu’Adzam Shah lในประวัติศาสตร์ไทยเรียกท่านว่า ตนกูเซียอุดดิน เป็นบุตรชายคนเล็กของตนกูดาอี* เกิดเมื่อปี 2378

ตนกูดาอีบิดาของท่านมีชื่อมลายูว่าสุลต่านไซนัลราซิด ครองราชต่อจากตนกูปะแงรันได้เพียง 9 ปีก็ถึงแก่อนิจกรรมในปี 2397 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ( น้อยกลาง ณ.นคร ) ได้นำตนกูกูเด็น และพี่ชายคนโตคือตนกูอาหมัด เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งตนกูอาหมัดเป็น “พระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่าน มหมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทวังศา พระยาไทรบุรี” ** และทรงแต่งตั้งตนกูกูเด็นเป็น “พระเกไดสวรินทร์” ผู้ช่วยราชการ  ซึ่งสร้างความผิดหวังให้แก่ตนกูกูเด็นอย่างมาก เพราะความคาดหวังในบัลลังก์สุลต่านมีสูง เนื่องด้วยมีความสนิทสนมกับพระยานคร

ปี 2411 ตนกูกูเด็นสมรสกับบุตรีของ รายา อับดุล ซามัด สุลต่านแห่งสลังงอร์  ทำให้ได้ดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งสลังงอร์( Viceroy of Selangor ) ตนกูกูเด็นได้นำทัพ 500 นายจากไทรบุรีไปช่วยพ่อตารบในสงครามกลางเมืองซึ่งลุกลามจนเกิดการรบราฆ่าฟันกันของกรรมกรเหมืองแร่ในสังกัดสมาคมลับหรืออั้งยี่สองพวกคือ กงสีกี่ฮิน ( Ghee Hin ) ของจุง เค็ง กุ่ย ( Chung Keng Kwee ) กับ กงสี ไห่ซาน ของ เอี๊ยบ อา หลอย ( Yap Ah Loy ) ฝ่ายรายาอับดุลซามัดแห่งเมืองสลังงอร์หนุนพวกกงสีไห่ซาน

สงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างสองสมาคมลับในสลังงอร์และเปรัคครั้งนั้นจบลงด้วยการยื่นมือเข้ามาหย่าศึกของอังกฤษ อังกฤษจับหัวหน้ากงสีมาเจรจากัน และแต่งตั้งให้หัวหน้าชาวจีนทั้งสองเป็นกปิตันจีนา ( Kapitan Cina = Captain China )ปัญหาสงครามที่ยืดเยื้อนาน 7 ปีจึงยุติลง  และกลายเป็นต้นแบบการจัดการปกครองชาวจีนในสตูลของพระยาภูมินารถภักดี

ตนกูกูเด็นประพฤติตนเป็น”เจ้าสองฝ่ายฟ้า” รับตำแหน่งอุปราชแห่งสลังงอร์ตั้งแต่ปี 2411 ควบบทบาท พระเกไดสวรินทร์ ผู้ช่วยราชการเมืองไทรบุรี จนสุลต่านอาหมัดถึงแก่อนิจกรรมในปี 2422 ขณะนั้นสุลต่านมีบุตรชายที่ยังเป็นเด็กชายเล็กๆหลายคน และมีบุตรชายที่โตแล้วถึง 3 คนคือ

– ตนกูไซนาล ราซิด บุตรชายคนโตเกิดจากภริยาชาวไทยชื่อหวันหยา  อายุ 22 ปี

–  ตนกูอับดุล ฮามิด บุตรเกิดจากภริยาชาวมลายู อายุ 16 ปี

–  ตนกูอับดุล อาซิส  น้องชายร่วมมารดาของตนกูอับดุล ฮามิด

แม้สุลต่านผู้ล่วงลับจะมีบุตรชายหลายคน  แต่ตนกูกูเด็นก็ยังคาดหวังในราชบัลลังก์ไทรบุรี  ด้วยความสนิทสนมที่มีต่อเชื้อพระวงศ์ของไทยเพราะติดตามสุลต่านอาหมัดเข้าเฝ้าฯที่กรุงเทพฯบ่อยๆ ท่านหวังว่าจะสามารถใช้ความคุ้นเคยนั้นโน้มน้าวพระทัยให้ทรงแต่งตั้งตนเองเป็นพระยาไทรบุรีได้

แต่ก็พบกับความผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งบุตรชายคนโตของตนกูอาหมัด คือ ตนกูไซนาลราซิดเป็นพระยาไทรบุรีคนต่อมา และทรงแต่งตั้งตนกูกูเด็นเป็น “พระยายุทธการโกศล พลพยุหรักษ์ อรรควรเดช พิเศษสิทธิรำบาญ  บริหารบรมนารถ ราชโยธินทร์” ตำแหน่ง “ผู้กำกับทำนุบำรุงราชการเมืองไทรบุรี” ตั้งตนกูอับดุลฮามิดผู้น้องเป็น “พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามูดา”

แต่อีก 2 ปีต่อมา ตนกูไซนาลราซิดก็ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยวัยเพียง 24 ปีเท่านั้น รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งตนกูอับดุล ฮามิด (พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ ) เป็นพระยาไทรบุรี มีนามภาษามลายูว่า Sultan Abdul Hamid Halim Shah สุลต่านอับดุลฮามิดท่านนี้ เป็นผู้ส่งกูเด็น บิน กูแมะ ข้าราชการสามัญชนชาวไทรบุรีมารักษาราชการแทนพระยาอภัยนุราช ( ตนกูอัลดุลเราะหมาน )ในปี 2439 และสนับสนุนให้เป็นเจ้าเมืองสตูลแทนเชื้อพระวงศ์สุลต่านไทรบุรีที่ปกครองสตูลมาตั้งแต่ปี 2356

ในปี 2428 ทรงแต่งตั้งตนกูอับดุลอาซิสน้องชายเป็น พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามูดา ส่วนตำแหน่ง”ผู้กำกับทะนุบำรุงราชการเมืองไทรบุรี”โปรดให้ยกเสียตั้งแต่ 4 ปีก่อน

ตนกูกูเด็นเกษียณอายุราชการในปี 2425 จึงมาสร้าง Udini House ( คฤหาสน์ยูดินี ) ที่ปีนัง อาศัยอยู่ที่นี่จนเสียชีวิตในปี 2452***

พระยาภูมินารถภักดี ( กูเด็น บิน กูแมะ ) ซื้อคฤหาสน์หลังนี้ในปีถัดมา เพื่อใช้เป็นบ้านพักผ่อน ในปี 2473 สำนักงานกฎหมาย Presgrave & Mathew เช่าเป็นสำนักงานจนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ญี่ปุ่นยึดที่นี่เป็นกองบัญชาการใหญ่ เช่นเดียวกับการยึดคฤหาสน์กูเด็นที่สตูลเป็นกองบัญชาการใหญ่

หลังจากนั้นคฤหาสน์ยูดินีถูกเปลี่ยนมืออีกหลายครั้ง จบลงด้วยการเป็นสำนักงานของกองตำรวจน้ำ และถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงโดยปราศจากการดูแลดังที่เห็นในปัจจุบัน

______________________________________

*ตนกูดาอีในประวัติศาสตร์ไทยมีชื่อมลายูว่า Sultan Zainal Rashid Al-Mu’adzam Shah l เป็นบุตรชายคนเล็กของตนกูปะแงรัน

**มีชื่อภาษามลายูว่า Sultan Ahmad Tajuddin Mukarram Shah ibni Almarhum Sultan Zainal Rashid

*** ข้อมูลบางแห่งระบุว่าเสียชีวิตในปี 2449 ( Streets of Georgetown Penang / Khoo Su Nin )

………………………………………………………………

ภาพ/เรื่องเรียบเรียงโดย ศมานนท์ พฤกษ์พิเนต นักประวัติศาสตร์สตูล