สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แห่งหัวเขาแดง (ตอนที่ 3) บทบาทพระยาจักรีหมุดในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

เรื่องเล่าจากคนขายหนังสือ โดย สมาน อู่งามสิน

หลังจากที่ท่านมุสตาฟา(พระยาพิชิตภักดี ศรีพิชัยสงคราม) พระยาไชยา บุตรชายคนโตของสุลต่านสุลัยมานชาห์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2235 ขุนหลวงสรศักดิ์(พระพุทธเจ้าเสือ) ได้โปรดเกล้าฯให้หลวงคชสวัสดิ์ราชบังสัน(เตาฟิค) บุตรชายคนโตของท่านมุสตาฟา ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาไปเป็นพระยาไชยาและเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิชิตภักดี ศรีพิชัยสงคราม” ถือศักดินา 5,000 ไร่ แทนท่านมุสตาฟา ผู้เป็นบิดา ท่านเตาฟิคมีบุตรชายทั้งหมด 6 คน คือ หลวงราช หลวงราญ ขุนลักษมณา ขุนสมุทรและอีกสองท่านไม่ทราบชื่อ อย่างไรก็ตาม ท่านเตาฟิคเดินทางมารับราชการที่เมืองไชยาโดยที่บุตรชายส่วนใหญ่ของท่านยังคงรับราชการและพำนักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา

บุตรชายคนหนึ่งของท่านชื่อ “ขุนลักษมณา(บุญยัง)” (Laksamana หมายถึง นายพลเรือ ในภาษาชะวาและภาษามลายู) ได้ไปทำสงครามมีความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานนางห้าม ชื่อ “หม่อมดวง” เป็นภรรยา และมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “หมุด” ซึ่งได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กและได้เป็น “หลวงศักดิ์นายเวร” ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์) กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนจะเสียแก่พม่าในพ.ศ. 2310

ในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ท่านหมุด(บุตรขุนลักษมณา) รับราชการรุ่นราวคราวเดียวกันกับมหาดเล็กอีก 4 ท่าน คือ

1. ท่านสิน บุตรจีนไฮ้ฮอง แซ่แต้ และเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี เสนาบดีคลัง ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี

2. ท่านทองด้วง บุตรพระพินิตอักษรแห่งกรมอาลักษณ์ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

3. ท่านบุนนาค บุตรเจ้าพระยากลาโหม สายสกุลเฉกอะหมัด

4. ท่านขุน บุตรพระยาราชบังสันมหันตสุริยา (ตะตา) แม่ทัพเรือกรุงศรีอยุธยา สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์

ระเรื่อยมาจนถึงแผ่นดินสุดท้าย ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ มหาดเล็กหลายท่าน ต่างมีตำแหน่งทางราชการสูงขึ้นตามลำดับ ท่านสินได้เป็นยกกระบัตรเมืองตาก และท่านทองด้วงได้เป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี จึงเป็นที่รับรู้ก้นโดยทั่วไปว่า ท่านหมุดมีความสนิทสนมกับมหาดเล็กทั้งสี่ท่านมาแต่เดิมนับแต่เยาว์วัย และเป็นเหตุให้ ต่อมาเมื่อชาติต้องการ ท่านหมุดจึงทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างเต็มกำลัง

เกษม ท้วมประถม, สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง และประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ได้บันทึกเรื่องราวของท่านหมุดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าและการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในบทความ “ประวัติสกุลมุสลิม’สุนนี’กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลในราชวงศ์จักรี” อย่างละเอียดละออครบถ้วน “ท่านหมุดหรือหลวงนายศักดิ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงไปเก็บภาษีต่างๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ขณะนั้นเมืองจันทบูรณ์เป็นเมืองใหญ่ ก็พอดีกรุงแตก (พ.ศ. 2310) พี่น้องในสกุลนี้หลายคนเสียชีวิตในการรบป้องกันกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เช่นพระยาภักดีเสนา (เป็นบุตรของพี่ชายพระยาราชบังสันตะตา) ซึ่งเป็นนายทหารก็ถึงอสัญกรรมในการรบ หลวงนายศักดิ์(หมุด) เก็บภาษีได้ 300 ชั่ง ยังไม่ทันกลับเข้ากรุง พอได้ทราบข่าวกรุงแตก พระยาจันทบุรีขอรับเงินภาษีไว้เอง หลวงนายศักดิ์ไม่ยอม จึงได้นำเงินจำนวนนี้ไปฝังไว้ในวัดจันทร์ แล้วตกค่ำลง หลวงนายศักดิ์แต่งให้จีนโห่ร้องมาปล้น แล้วแจ้งแก่พระยาจันทบุรีว่า เงินค่าส่วยค่านานั้นได้ถูกคนร้ายปล้นสะดมไปหมดแล้ว พระยาจันทบุรีสั่งให้จำหลวงนายศักดิ์ แต่หลวงนายศักดิ์ก็ได้พยายามต่อสู้ด้วยกำลังจีนไต้เหี่ย ตั้งใจจะรบกัน แต่ยังไม่ทันได้ลงมือ พอทัพพระเจ้าตากไปถึงเมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีไม่ยอมให้เข้าเมือง ได้ต่อสู้รักษาเมืองไว้ หลวงนายศักดิ์หลบหนีออกมาเฝ้าพระเจ้าตาก ด้วยเป็นผู้ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อนตั้งแต่เยาว์วัยและได้พาจีนไต้เหี้ยจำนวน 500 คน กับเงินที่ฝังไว้ 300 ชั่ง มามอบให้แก่พระเจ้าตากและร่วมมือกันยึดเมืองจันทบุรีไว้ได้ แล้วสร้างกำลังเรือรบขึ้นโดยใช้เงินค่าส่วยค่านาที่หลวงนายศักดิ์มอบให้เป็นทุนสำคัญ แล้วยกกองเรือเข้าตีพม่าแตกพ่ายไปภายในเวลาเพียง 5 เดือนหลังจากเสียกรุง ……..หลวงนายศักดิ์(หมุด) ได้ความดีความชอบมาก โปรดให้เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปเป็นกองหน้าไปตีชุมนุมเจ้านคร (เข้าใจว่าขณะนั้นหลวงนายศักดิ์คงดำรงตำแหน่งพระยายมราช) กล่าวกันว่า เมื่อได้รับพระบรมราชโองการแล้ว ท่านได้เดินทางไปเมืองไชยาพร้อมด้วยกำลังทหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ท่านได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระยาไชยา (ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเอง) ช่วยเหลือจัดการต่อเรือให้ที่ท่าชนะ พร้อมกับเกณฑ์ผู้คนที่ชำนาญทางเรือตั้งเป็นกองเรือ ยกไปตีเมืองนครได้ (กำลังทหารทั้งนายและพลจากเมืองไชยา) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนเป็น “เจ้าพระยาจักรี” ในประวัติศาสตร์เรียกท่านว่า “เจ้าพระยาจักรีแขก”…..ในระหว่างรับราชการ เจ้าพระยาจักรี(หมุด) เป็นที่โปรดปรานมาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่ดินใกล้พระราชวัง ระหว่างวัดหงส์รัตนารามกับวัดโมลีโลกยาราม ให้เป็นหมู่บ้าน

มุสลิมสุนนี เป็นที่พักอาศัยของบรรดาญาติพี่น้องของเจ้าพระยาจักรี(หมุด) ได้อยู่ร่วมกัน ให้มีมัสยิด “กุฎีใหญ่” หรือมัสยิดต้นสนปัจจุบัน มีบริเวณสุสานที่กว้างขวางมากในบริเวณกุฎีใหญ่ด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรี(หมุด) ถึงแก่อสัญกรรม โปรดให้ฝังศพของท่านไว้ ณ สุสานแห่งนี้และพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาร่วมในพิธีฝังศพด้วย”

ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายถึงลักษณะที่แตกต่างกันอันเกี่ยวเนื่องจากผลประโยชน์ระหว่างหัวหน้าชุมนุมกับหลวงนายศักดิ์(หมุด) ซึ่งเป็นขุนนางจากส่วนกลางว่า “เพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างหัวหน้าชุมนุมซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติและหัวหน้าชุมนุมที่มุ่งจะกอบกู้พระราชอาณาจักรอยุธยาเช่นพระเจ้ากรุงธนบุรี บรรดาผู้นำท้องถิ่นซึ่งทรงเกลี้ยกล่อมเอาเป็นพวกในระยะแรกที่ยังไม่มีพระราชอำนาจเด่นชัดนัก (ก่อนตีกรุงศรีอยุธยาได้จากสุกี้) นับตั้งแต่ระยอง, นายทองอยู่, พระยาจันทรบูร, พระยาราชาเศรษฐี ฯลฯ มักไม่ค่อยซื่อสัตย์ต่อพระองค์จริงจังยั่งยืน พากันทรยศหรือมิฉะนั้นก็ขัดขวางพระราชอำนาจในเวลาไม่ช้านัก ผิดจากพวกที่เป็นขุนนางส่วนกลางซึ่งเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีในระยะนี้  เช่นหลวงนายศักดิ์(หมุด) ซึ่งจะอยู่รับราชการจนเป็นเจ้าพระยาจักรี”

ในหนังสือ “สุลต่านลุ่มทะเลสาบสงขลา” อาณัติ อนันตภาค เขียนถึงบทบาทของเจ้าพระยาจักรี(หมุด) ในมุมมองที่น่าวิเคราะห์ถึงสภาวะการณ์ในช่วงนั้นเป็นอย่างยิ่ง “หากจะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสายสกุลสุลต่านสุลัยมานแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาบทบาทและอำนาจของเจ้าพระยาจักรี(หมุด) หรือที่พระราชพงศาวดารบางฉบับเรียกว่า เจ้าพระยาจักรีแขก ….หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถกู้เอกราชและตั้งราชธานีเมืองธนบุรีแล้ว หลวงนายศักดิ์(หมุด) ก็ได้รับพระราชทานยศและตำแหน่งเลื่อนระดับอย่างต่อเนื่อง ความก้าวหน้าของหลวงนายศักดิ์(หมุด) ที่สุดท้ายได้รับพระราชทานโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าพระยาจักรีในสมัยกรุงธนบุรีนั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความสำคัญของเจ้าพระยาจักรี(หมุด) ที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินอยู่ไม่น้อย……กระนั้นก็กล่าวได้ว่าเป็นขุนนางแขกเพียงคนเดียวที่มีตำแหน่งใหญ่โตในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน……การที่เจ้าพระยาจักรี(หมุด) ได้รับบรรดาศักดิ์ที่ถือว่าสูงมากนี้ ส่งผลให้ตรอบครัวของท่านได้รับอนิสงส์ต่อมาด้วย ดังจะเห็นได้ในกรณีของบุตรที่ได้รับตำแหน่งทางราชการอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มเครือญาติก็ดูเหมือนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกรณีของพระยาพัทลุง(ขุน) ซึ่งเป็นบุตรของพระยาราชบังสัน(ตะตา) ก็ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าเมืองพัทลุง แม้ว่าในภาวะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินจะไม่ทรงโปรดบรรดาบุคคลที่นับถือศาสนา “พระมะหะหมัด” ก็ตาม”

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ “ประวัติชลายนเดชะ” ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ หนึ่งในมุสลิมสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เขียนถึงความสัมพันธ์ของเจ้าพระยาจักรี(หมุด) ก้บอดีตมหาดเล็กรุ่นราวคราวเดียวกับท่านไว้ว่า “เมื่อพระยาจักรี(หมุด) ได้รับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ก็ได้พาสหายของท่าน คือ นายสุดจินดา(บุญพา) เข้าถวายตัว พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้เป็นพระยามหามนตรี และพระยามหามนตรีได้พาหลวงยกกระบัตร(ทองด้วง) ผู้พี่ซึ่งอยู่เมืองราชบุรีมาถวายตัว โปรดเกล้าให้เป็นพระยาราชวรินทร์ แล้วเสด็จมาเสวยราชสมบัติอยู่ ณ กรุงธนบุรี”

ในหนังสือเล่มเดียวกัน ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ยังเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมัสยิดต้นสนกับพระยาจักรี(หมุด) ไว้อีกว่า “ที่ดินที่สร้างมัสยิดต้นสน เดิมมีชื่อว่า “กุฎีใหญ่” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างวัดโมฬีโลกยาราม  และวัดหงษ์รัตนารามนี้เป็นที่ดินที่พระยาจักรีได้รับพระราชทานให้เป็นที่สร้างมัสยิดของบรรดาอิสลาม

ศาสนิกชนในสมัยนั้น มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่และได้ใช้เป็นที่ตั้งของมัสยิดต้นสน และสุสานมาจนกระทั่งทุกวันนี้”

 

……………………………………………………………

พระยาจักรี(หมุด) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2314 หลังจากภาระกิจสำคัญคือ การร่วมกอบกู้เอกราชจากพม่าเป็นผลสำเร็จในพ.ศ. 2311 ภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช…………….

(โปรดติดตามตอนต่อไป)