สายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ 2 ปฐมฤกษ์เมืองสงขลา

0
2707

เรื่องเล่าของคนขายหนังสือ โดย สมาน อู่งามสิน

ก่อนที่จะเล่าเรื่องกรณีที่สองซึ่งลูกหลานสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ ผู้มีนามว่า เจ้าพระยาจักรี(หมุด) ได้สร้างวีรกรรมไว้ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชจากพม่าเมื่อพ.ศ. 2310 ขอย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่หัวเขาแดง สงขลาและไชยา สุราษฎร์ธานีเสียก่อน และจะเล่าเรื่องเจ้าพระยาจักรี(หมุด)ในตอนต่อๆไป


   ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีและหนึ่งในสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เขียนถึงความพ่ายแพ้ของนักรบหัวเขาแดงในยุคของสุลต่านมุสตาฟาไว้ในบทความ ‘สายสกุล สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์’ เมื่อพ.ศ. 2533 ดังนี้ “การสงครามได้สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของสงขลา เพราะบ้านเมืองต้องกรำศึกมาช้านาน แต่ทว่าก่อนการพ่ายแพ้แก่อยุธยานั้น ก็ได้ต่อสู้อย่างสามารถ ดังมีเอกสารของชาวต่างประเทศกล่าวว่า ‘ทางเมืองสงขลาได้จัดเตรียมรักษาเมืองอย่างเข้มแข็ง สั่งนำปืนใหญ่ตั้งบนเขา ตระเตรียมการทุกอย่างเพื่อป้องกันรักษาเมือง’ ซึ่งในการนี้พวกพ่อค้าอังกฤษก็ได้ส่งผู้คนไปช่วยเจ้าเมืองสงขลาจัดสร้างป้อมปราการอีกแรงหนึ่งด้วย ทางกรุงศรีอยุธยานั้นได้การช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากพวกฮอลันดาและฝรั่งเศส เริ่มทำสงครามแต่พ.ศ. 2223 และสิ้นสุดลงในพ.ศ. 2230 เมอซิเออร์ เวเรต์ พ่อค้าชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ในรายงานของตนว่า ‘เมื่อ 6 ปีที่ล่วงมา พระเจ้ากรุงสยามได้ส่งกองทัพเรือเป็นอันมากให้มาโจมตีเมืองสงขลาอย่างสามารถ และไทยตีเมืองได้ก็เพราะผู้รักษาป้อมแห่งหนึ่งของเมืองเอาใจออกห่าง ถูกฝ่ายไทยล่อลวงเกลี้ยกล่อมจนยอมเข้าด้วยกับฝ่ายตรงข้าม ทหารไทยจึงเข้าไปในป้อมแล้วเอาดอกไม้เพลิงโยนเข้าไปในเมือง เพลิงได้ติดลุกลามไหม้วังของพระเจ้าสงขลาจนหมดสิ้น ในระหว่างที่เกิดการชุลมุนเพื่อดับไฟนั้น กองทัพไทยก็ยกเข้าเมืองได้ ทำลายป้อมคู ประตูหอรบ และบ้านเรือนจนเหลือแต่แผ่นดิน’ การสิ้นสุดของเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงนั้น นับเป็นการสิ้นสุดของรัฐอิสระที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานานถึง 40 ปี และเป็นการสิ้นอำนาจของชาวมุสลิมที่มีอิทธิพลเหนือดินแดนในภาคใต้ของประเทศไทยที่คลุมพื้นที่จากจังหวัดสงขลา ขึ้นไปจนถึงพัทลุง  ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี” 



มีบันทึกอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า สุลต่านสุลัยมาน ชาห์ เคยมีความพยายามขยายอิทธิพลไปครอบงำเมืองไทรบุรีโดยที่ฟาริซี น้องชายของท่านได้รับคำสั่งให้ไปสร้างป้อมที่เขาไชยบุรี ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านเหนือของทะเลสาบในเขตเมืองพัทลุงปัจจุบัน และให้ยกกำลังไปตีเมืองไทรบุรี แต่ว่าระหว่างเดินทัพ ฟาริซีเกิดป่วยเป็นไข้ป่าและถึงแก่กรรมที่ตำบลชะรัต กิ่งอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุงในปัจจุบัน ศพของท่านจึงถูกฝังไว้ที่กุโบร์(สุสานมุสลิม)ในเขตตำบลนี้ และชาวบ้านเรียกกันต่อมาว่า “ทวดโหม”



ชัยชนะของกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกิดจากการที่ได้รับความร่วมมือจากนักล่าอาณานิคม 3 กลุ่ม คือ ฮอลันดา โปรตุเกส และฝรั่งเศส ในขณะที่สงขลามีเพียงอังกฤษเท่านั้นที่คอยให้ความช่วยเหลือ สรุปแล้วไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้รับชัยชนะ นักล่าอาณานิคมจากตะวันตกทั้งหลายก็จะมีส่วนร่วมในชัยชนะนั้นด้วย ไม่เพียงแต่ผลประโยชน์ทางการค้าที่พวกเขาแย่งชิงกันเท่านั้น แต่เป็นการกรุยทางสู่การยึดครองดินแดนย่านอุษาคเนย์ของนักล่าอาณานิคม หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ ลัทธิชาตินิยม ลัทธิอาณานิคมและการสลายตัวของลัทธิอาณานิคม’ ของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พ.ศ. 2521 อธิบายปรากฎการณ์ ‘การเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาติตะวันตก’ ไว้อย่างชัดเจน “ผู้เริ่มต้นยุคใหม่นี้คือชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นผู้พบทางเดินเรือมาสู่เอเชียโดยอ้อมแหลมกู๊ดโฮบในตอนปลายของศตวรรษที่สิบห้า ชาวโปรตุเกสมาเอเชียด้วยเหตุผลหลายอย่างผสมกันเช่น ทางศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ  เหตุผลที่สำคัญคือความต้องการของชาวโปรตุเกสที่จะเข้าร่วมในการค้าเครื่องเทศของเอเชียกับพ่อค้ามุสลิมจากเมืองคุชราต (Gujarat) ซึ่งพ่อค้าอินเดียและพ่อค้าอาหรับร่วมกันทำอยู่ พ่อค้ามุสลิมเหล่านี้มารับซื้อเครื่องเทศจากเมืองท่ามะละกาของมลายู ส่วนพ่อค้าอาหรับจะส่งต่อสินค้าไปยังเลเวน/Levant (ประเทศและหมู่เกาะต่างๆในภาคตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน) โดยผ่านอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดง……ชาวโปรตุเกสมีลักษณะของคนสมัยกลางคือ มุ่งอยู่กับการเข้ายึดครอง เปลี่ยนศาสนา ปล้นสดมภ์ และเรียกบรรณาการ”

โดยประเพณีของการรบในสมัยโบราณ สุลต่านมุสตาฟา ครอบครัวและนักรบใกล้ชิดน่าจะถูกประหารชีวิตทั้งหมดหลังจากพ่ายแพ้แก่กรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องด้วยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ไว้วางใจข้าราชการไทย พระองค์จึงโปรดให้ชาวต่างชาติเข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นในกรณีของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (Constantine Phaulkon) อดีตกลาสีชาวกรีกของเรือสินค้าฝรั่งเศส และพระยาสีหราชเดโชชัย เป็นต้นศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในบทความ ‘สายสกุล สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์’ ของท่าน “เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ทำลายเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงนั้น หาได้ฆ่าฟันเจ้าเมืองสงขลาไม่ แต่โปรดให้มุสตาฟาอพยพครอบครัวและผู้คนไปอยู่ที่ไชยา และภายหลังก็โปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นพระยาไชยามีราชทินนามว่า ‘พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม’ หรือเรียกกันทั่วไปว่า ‘พระยาไชยา’ “



เป็นอันว่าหลังจากที่สุลต่านมุสตาฟายอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อพ.ศ. 2230 แล้ว หัวเขาแดง สงขลา จุดที่เคยเป็นสถานีการค้าทางทะเลที่รุ่งเรืองและมีป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดป้อมปราการหนึ่งในอุษาคเนย์ก็ยุติบทบาทและสถานะทางประวัติศาสตร์ลงอย่างสิ้นเชิง หัวเขาแดงกลายเป็นแผ่นดินดาลเดือด และไพร่พลของสุลต่านมุสตาฟาต้องแตกกระสานซ่านเซ็นหนีเอาชีวิตรอดจากภัยสงคราม มีการจัดระเบียบการรับราชการใหม่โดยให้มุสตาฟาไปครองไชยา ลูกและน้องชายต่างมารดาให้ไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา



ดร. ธานินทร์ สลาม เขียนเล่าเรื่องราวเก่ียวกับการครองเมืองของมุสตาฟาไว้ในงานวิจัย ‘มุสลิม…..แห่งเมืองไชยา’ ของท่านไว้อย่างน่าสนใจโดยอ้างคำบอกเล่าของพระศรีราชสงคราม(ช่วย)อดีตปลัดเมืองไชยานอกราชการอายุ 84 ปี  “ครั้นต่อมาครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พะม่าข้าศึก แต่จะเป็นรัชกาลไหนไม่ปรากฏ มีแขกมลายูชื่อ มะระหุมปะแก (มะระหุมแปลว่า ผู้ล่วงลับไปแล้ว ปะแก(ปะ=พ่อ, แก=แก่เฒ่า) แปลว่าพ่อเฒ่า เป็นคำนามซึ่งมีอีกสองชื่อที่ชาวบ้านยังเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ คือโต๊ะท่านบน – โต๊ะเจ้า นามยศของท่านว่า สุลต่านมุสตาฟา) อพยพครอบครัวและพรรคพวกมาจากบ้านหัวเขาแดง ปากน้ำเมืองสงขลา มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ทุ่งโฉลกทองที่อำเภอพุนพินซึ่งในเวลานี้เรียกนามว่าบ้านหัววัง ตั้งทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่สืบมาจนกระทั้งเจ้าเมืองไชยาว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มะระหุมปะแก เป็นเจ้าเมืองไชยา ครั้นมะระหุมปะแกได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาแล้ว ได้ย้ายบ้านเรือนจากบ้านหัววังไปตั้งอยู่ที่ทุ่งไชยา หาได้ไปตั้งที่บ้านเวียงที่ได้เคยตั้งเมืองมาแตกอนๆนั้นไม่ การที่ไม่ยกไปตั้งที่บ้านเวียงนั้นเห็นจะเป็นด้วยไม่อยากจะปะปนแกพวกคนไทย มะระหุมปะแกเจ้าเมือง ได้นามทุ่งไชยานั้นว่า บ้านสงขลา เค้านามเมืองสงขลาที่มะระหุมปะแกเจ้าเมืองเคยอยู่แต่เดิมนั้นมาตั้งให้นามบ้านขึ้นที่เมืองไชยามีนามพ้องแกบ้านในเมืองสงขลา ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ คือบ่อยาง เกาะยอ เมื่อมะระหุมปะแกได้ปลูกสางบ้านเรือนขึ้นเสร็จแล้วได้ลงเสาหลักเมืองไว้ในหนอง บ้านสงขลาเรียกว่าหลักประโคน ขุดคูไว้รอบบ้านหนองน้ำสงขลาที่ปักหลักประโคนนั้น ในเวลานี้เป็นที่นาของรัฐบาลทั้งหมดหรือคูที่ได้ขุดไว้ในเวลานั้นทุกวันนี้ก็กลายเป็นคลองไปเสียแล้ว  ครั้นต่อมา มะระหุมปะแกถึงแก่กรรมลง จะได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองไชยากี่ปีไม่ปรากฏ”

มุสตาฟามีพี่น้องต่างมารดาสองท่านคือ ‘หะซัน’ และ ‘หุเซ็น’ หลังจากหัวเขาแดงแตก ทั้งสองท่านนี้พร้อมกับบุตรชายคนโตของท่านที่มีชื่อว่า ‘เตาฟิก’ ได้ไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยา เรื่องราวของ ‘หะซัน’ (พระยาราชบังสัน) ได้ถูกเล่าไว้ในบทความตอนที่ 1 แล้ว ส่วน ‘หุเซ็น’ หลังจากรับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาระยะหนึ่งก็ขอกลับมาช่วยราชการพี่ชายต่างมารดา (พระยาไชยามุสตาฟา) โดยดำรงตำแหน่งปลัดเมือง จึงมีชื่อเรียกเป็นภาษามลายูว่า ‘รายามุดา’ หรือ ‘หวันมุดา’ ซึ่งหมายถึงอุปราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นพระยาพัทลุงตั้งแต่พ.ศ. 2226 โดยมีราชทินนามว่า ‘พระยาแก้วโกรพพิชัย’ หลังจากได้จางวางแล้วท่านก็ได้กลับมาอยู่ที่เมืองไชยาอีกจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2236 ท่านมีบุตรธิดาที่เมืองไชยาจำนวนหลายคน หุเซ็นจึงเป็นต้นสกุลของ ‘มุดาอุเส็น’ และ ‘หวันมุดา’ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้สองนามสกุลนี้ในหมู่บ้านสงขลา พุมเรียง เป็นจำนวนไม่น้อย ศพของท่านถูกฝังที่กุโบร์(สุสานมุสลิม)บ้านสงขลา เคียงข้างกับศพของพระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม (มุสตาฟา) พี่ชายต่างมารดาของท่านซึ่งกลับไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าก่อนหน้าท่านเพียงหนึ่งปีเมื่อพ.ศ. 2235 หลังจากที่ครองเมืองไชยามานานกว่า 10 ปี

สมาน อู่งามสิน