ม.ราชภัฏยะลา โชว์ผลิตภัณฑ์ เลิศล้ำ!!ในงาน “Food plus and story” ยกระดับผลิตภัณฑ์ (OTOP) เสริมความแกร่งให้ผู้ประกอบการในพื้นที่

0
525

หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร  ม.ราชภัฏยะลา โชว์ผลิตภัณฑ์ ในงาน “Food plus and story” ยกระดับผลิตภัณฑ์ (OTOP) เสริมความแกร่งให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่

ที่ ห้องประชุมนานัส ชั้น 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รักษาราชการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดงาน “Food plus and story” คณาจารย์ และนักศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์จริยา สุขจันทรา อาจารย์หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดแสดงผลิตภัณฑ์อันเป็นผลลัพธ์จากโครงการการพัฒนายกระดับการผลิตอาหาร (OTOP)

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยใช้ชื่องานว่า “Food plus and story” ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะการประกอบอาชีพของเยาวชนและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก 3 หน่วยงานหลัก คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ 2561

ทั้งนี้การดำเนินโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน คือ การพัฒนาสถานประกอบการผลิตอาหาร มีเป้าหมายในการพัฒนาสถานที่ผลิตอาหารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) อันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป กิจกรรมดังกล่าวมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 ราย คือ ผู้ประกอบการจากจังหวัดปัตตานี ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนข้าวเกรียบปลาแหลมโพธิ์ วิสาหกิจชุมชนน้ำมะนาวสร้างตนเอง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีผลิตกล้วยหินกรอบแก้ว ร้านบุหงา นาดา และวิสาหกิจชุมชนมิง นัมเบอร์วัน และผู้ประกอบการจากจังหวัดยะลา ได้แก่ ร้านรอบีหยะ เบเกอรี่ กาแฟลิ้มตงเฮง ขนมบ้านอานาย ยานยาฮาลาล ฟู๊ดส์ และหมี่เบตง ตราไก่เบตง

นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตสื่อแสดงอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 ราย คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ภูมิปัญญา จังหวัดนราธิวาส  HANTANA น้ำแกงสำเร็จรูป จังหวัดยะลา กลุ่มทองพับทองม้วนเวฬุวัน จังหวัดยะลา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาแห้งท่ายาลอ จังหวัดปัตตานี

ภาพ/ข่าว มูกะตา หะไร ทีมข่าว@ชายแดนใต้ จ.ยะลา