“ล้มต้นยาง เลี้ยงจรเข้ เปลี่ยนชีวิตที่ดีกว่า” ตามนโยบายลดพื้นที่ปลูกยาง 1.5 แสนไร่ ไทยนิยม ยั่งยืน !!

0
1392

“ล้มต้นยาง เลี้ยงจรเข้ เปลี่ยนชีวิตที่ดีกว่า” ตามนโยบายลดพื้นที่ปลูกยาง 1.5 แสนไร่ ไทยนิยม ยั่งยืน !!

จากการที่การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนิน โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน เป็นหนึ่งในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกยางพารา ทั่วประเทศ 1 แสน 5 หมื่นไร่ โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำสวนยางไปทำเกษตรกรรมแบบอื่น 
ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายพยายามประกอบอาชีพอย่างอื่นนอกจากการปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว เช่น นางศรีวิภา พุมราช อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 1/11 หมู่ที่ 5 ตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมที่ปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว ต่อมาหันมาทำฟาร์มเพาะพันธ์ลูกหมูให้กับบริษัท ซึ่งได้รับผลตอบแทนมากกว่าการปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว และจากการเลี้ยงหมูย่อมมีปัญหาทั้งลูกหมูตายระหว่างคลอด ป่วยตาย รวมถึงแม่หมู่ด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องกำจัดด้วยการฝังซาก แต่นับวันยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้เข้าปรึกษากับกับธนาคารเพื่อการเกษตรจนในที่สุดได้วิธีการกำจัดซากหมูด้วยการเลี้ยงจระเข้ จึงได้โค่นต้นยางออกบางส่วน แล้วทำบ่อซีเมนต์สำหรับเลี้ยงจระเข้ และเดินทางไปหาซื้อลูกพันธุ์จากจังหวัดชัยนาท

โดยในครั้งแรกซื้อมาจำนวน 150 ตัวๆ ละ 1,700 บาท และใช้ซากหมู มาเป็นอาหารจระเข้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุน และการกำจัดซากไปในตัว หากไม่พอก็ซื้อซากไก่จากฟาร์มไก่มาเสริม ซึ่งจระเข้เป็นสัตว์กินน้อยโดยกินอาทิตย์ละครั้ง  เลี้ยงจนจระเข้มีอายุได้ 3 ปี ขายได้กว่าล้านบาท โดยมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อหน้าฟาร์ม และตลาดรับซื้อยังมีความต้องการจำนวนมาก และตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการหาชื้อลูกพันธุ์จระเข้มาไว้เป็นรุ่นๆ รวมถึงการหาชื้อจระเข้โตมาไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ด้วย โดยคิดว่าในอนาคตจะทดลองเพาะลูกจระเข้เองเพื่อลดต้นทุนลงอีก ปัจจุบันมีจระเข้ร่วม 500 ตัว ด้านนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การเลี้ยงจรเข้ในสวนยางนับ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำอาชีพเสริม นอกจากการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว สำหรับการเลี้ยงจระเข้ในเวลา 3 ปีโดยใช้ซากสัตว์ที่มีอยู่ในฟาร์มหมู เหมือนเป็นการสะสมเงินในกระปุกออมสิน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทั้งจระเข้เป็นสัตว์ที่กินน้อยมาก จึงมีซากสัตว์เพียงพอกับการให้อาหารในแต่ละครั้ง หากต้องการที่จะมีอาชีพเสริมสามารถปรึกษาได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตร

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำมาก อาจจะทำให้จระเข้หลุดลอดออกมาได้ จึงได้ให้คำปรึกษากับเกษตรกรรายดังกล่าวให้ทำกรงเลี้ยงหรือคอกเลี้ยงให้แข็งแรงและไม่ให้น้ำท่วมถึงแต่อย่างใด

ทีมข่าว @ชายแดนใต้ จ.สุราษฎร์ธานี