“กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” ขับเคลื่อนการศึกษาจชต.ด้าน”ยูเนสโก” ร่วมแนะทางออกผลักดันคุณภาพ

0
806

ณ โรงแรมเซาเทิร์น วิว อ.เมือง จ.ปัตตานี พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีรายงานผลการดำเนินงานการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสาธารณชน โดยมีนายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก กล่าวให้ข้อเสนอแนะ มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมในพิธี

   พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ตั้งอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่ในการประสานงาน เชื่อมโยงให้หน่วยงานทางการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูลและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ให้สามารถบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพและมีคุณภาพ โดยมีกรอบทิศทางการจัดการศึกษาตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี

ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1)การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง 2)ผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน 3)การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 4)การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมทางการศึกษา 5)การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6)การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา

ภารกิจในครั้งนี้ คือ การให้ความช่วยเหลือประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการศึกษาครบทุกคน ซึ่งเป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.6 หรือ ปวช.) ที่มีระยะเวลาการศึกษา 15 ปี ซึ่งเดิมรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรียนฟรี 12 ปี คือตั้งแต่ ชั้น ป.1 จนถึงชั้น ม.6 หรือ ปวช. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นความสำคัญของการศึกษาจึงได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาครอบคลุมในระดับอนุบาลด้วย จึงเป็นการเรียนฟรี 15 ปี

ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน

ผมเชื่อว่า การแก้ไขปัญหานั้น คงกระทำโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงราษฎร และองค์กรในพื้นที่ จึงประสบความสำเร็จตามสูตรความสำเร็จ“ความสำเร็จต้องเกิดจากความเพียร ความร่วมมือและประชารัฐ” ความเพียรนั้นหมายถึงความขยันหมั่นเพียร ความมุ่งมั่น ส่วนความร่วมมือคือการทำงานในลักษณะการบูรณาการ สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ตามปัจจัยที่กล่าวมานั้นเชื่อมั่นว่าจะนำพาการทำงานไปสู่ความสำเร็จในทุกเรื่อง

ต้องขอขอบคุณทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในการให้โอกาสทางการศึกษากับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้กลับเข้ามารับการศึกษาได้อีกครั้ง ภารกิจในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อหาแนวทาง และติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ครบทุกคน โดยการหามาตรการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล การจัดทำหลักสูตรอาชีพระยะสั้น การหามาตรการป้องกันการออกกลางคัน รวมถึงการมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง เพราะเด็กกลุ่มนี้ถือว่าเป็นเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นเยาวชนที่ดีของชาติในอนาคต และขอให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนในครั้งนี้เป็นตัวอย่างแก่ภูมิภาคอื่นต่อไป

ทีมข่าว@ชายแดนใต้