เรียนรู้สื่อพลเมือง ผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “City of Ghosts” ดูหนังดี มีสาระ

0
1773

9 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา  ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. ปัตตานี ร่วมกับ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, Documentary Club และ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS จัดฉายหนังสารคดี เรื่อง “City of Ghosts” ภาพยนตร์สารคดีที่เกาะติดความรุนแรงในเมือง Raqqa ประเทศซีเรีย

โดยหนังสารคดีเรื่อง City of Ghosts เป็นภาพยนตร์สารคดีที่กำกับโดย แมทธิว ไฮน์แมน เป็นบันทึกการเดินทางอันยาวนานของกลุ่มนักข่าวพลเมืองที่ต่อสู้กับกลุ่ม ISIS  ด้วยการรายงานข่าวสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดผ่านสื่อออนไลน์ภายใต้ชื่อ “Raqqa is Being Slaughtered Silently” หรือ “เมืองรักเกาะฮ์กำลังถูกเข่นฆ่าอย่างเงียบงัน” หนังสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้แค่ยืนยันว่าอิสลามไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่อิสลามถูกผู้ก่อการร้ายใช้เป็นเครื่องมือ แต่สารคดีของผู้กำกับชิงรางวัลออสการ์ นี้ยังตั้งคำถามกับ “ความเป็นมนุษย์” ของเราอีกด้วย

ภายหลังจากการฉายหนังสารคดีข้างต้นแล้วมีการจัดวงเสวนาต่อ ในหัวข้อ “สันติภาพจากคนเล็ก : พลังสื่อพลเมืองในเมืองผี”  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุ Media Selatan อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อมวลชน และ คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS ดำเนินรายการ ผศ.ดร. กุสุมา กูใหญ่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ. ปัตตานี

อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่า เมือง Raqqa ก่อนหน้านี้เป็นเมืองแบบเสรี เป็นเมืองของปัญญาชน ในเรื่องศาสนาก็มีความเคร่งครัดแต่เป็นไปอย่างเปิดกว้าง แต่หลังจากที่โดนยึดครองโดยกลุ่ม ISIS เมืองก็ถูกทำให้เป็นสีดำ มันชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่สุดโต่งเป็นสิ่งที่อันตราย และแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญ ทว่าอย่าให้กลุ่มสุดโต่งชี้นำการเปลี่ยนแปลง หนังสารคดีเรื่อง City of Ghosts ทำให้เราเห็นว่าประชาชนในเมืองดังกล่าวโดนคุกคามจากคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือจากรัฐบาลเผด็จการ บัชชาร อัลอัสซาด ที่สืบทอดอำนาจจากพ่อสู่ลูก เพราะหากไม่มีการคุกคามประชาชนคงไม่ออกมาต่อต้าน กลุ่มต่อมาคือจากกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งอย่าง ISIS ที่เข้ามายึดครองเมือง และกลุ่มที่สามคือจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการ้ายที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาทิ้งระเบิดเพื่อกวาดล้างกลุ่ม ISIS ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คำถามก็คือ การต่อต้านการก่อร้ายกับการก่อการ้ายต่างกันอย่างไรเมื่อพลเรือนเสียชีวิตเหมือนๆ กัน หนังสารคดีเรื่องนี้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มสื่อพลเมืองในพื้นที่สงคราม สำหรับสื่อพลเมืองแล้วโอกาสได้ค่าตอบแทนและมีชื่อเสียงมีน้อยแต่โอกาสเสี่ยงสูง ดังนั้น การทำหน้าที่สื่อพลเมืองคือการอุทิศตนเองเพื่อชุมชน บางครั้งผู้คนอาจจะพูดว่า “สื่อพลเมืองเป็นเรื่องอุดมคติ” แต่เอาเข้าจริงแล้ว สังคมขับเคลื่อนไปได้ก็เพราะการขับเคลื่อนของคนที่มีอุดมคตินี้แหละ

คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS  กล่าวอีกว่า ในตะวักตกเขาจะแยกพื้นที่การสื่อสารกันอย่างชัดเจนระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อพลเมือง แต่การที่กลุ่มสื่อพลเมืองในหนังสารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลซึ่งปกติเป็นรางวัลที่สื่อกระแสหลักมักจะได้รับไปเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่เอาเข้าจริงแล้วในหนังสารคดีก็ชี้ให้เห็นว่าคนที่ติดตามสื่อพลเมืองมีอยู่น้อยนิดแต่ที่เป็นกระแสสังคมได้เพราะสื่อกระแสหลักนำประเด็นไปสื่อสารต่อ  ก่อนหน้านี้เคยไปจัดงานในลักษณะดังกล่าวนี้มาแล้วในหลายมหาวิทยาลัย และเมื่อถามไปยังผู้เข้าร่วมว่าระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อพลเมืองท่านจะเชื่อใครมากกว่ากัน คำตอบที่ได้รับก็คือสื่อพลเมือง ซึ่งขณะนี้เท่าที่สังเกตผู้เข้าร่วมในห้องนี้ก็เหมือนจะพยักหน้าเห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อพลเมืองต่างก็มีจิตวิญญาณของการสื่อสารเหมือนๆ กัน

ซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุ Media Selatan กล่าวว่า จากการที่ได้รับชมหนังสารคดีเรื่องนี้ทำให้ได้เข้าใจเรื่องราวมากยิ่งขึ้น จากที่ปกติก็มักจะติดตามเรื่องราวข่าวสารเป็นประจำอยู่แล้วบ้าง ซึ่งบางครั้งเองก็มีโอกาสได้ดูคลิปที่ ISIS เผยแพร่แต่ไม่อาจเข้าใจเรื่องราวเหมือนในหนังสารคดีเรื่องนี้ได้ สื่อพลเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้ต่างจากสื่อพลเมืองในสารคดีเรื่องนี้ เพราะพวกเขาถูกคุกคามอย่างหนักจนต้องอพยพไปอยู่ต่างประเทศ และแม้ว่าจะอพยพไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็ยังโดนขู่ฆ่าสารพัดแต่พวกก็ยังยืนหยัดที่จะทำหน้าที่สื่อพลเมืองต่อไป ในขณะที่ในพื้นที่ชายแดนใต้บางครั้งแค่โดนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาเยี่ยมเยียนเราก็กลัวแล้ว  ในหนังสารคดีฉากในช่วงที่ ISIS เข้ามายึดครองเมืองและมีการทำลายรูปปั้นของผู้นำเผด็จการ ดูสีหน้าของประชาชนในขณะนั้นดูเหมือนจะมีความสุข แต่หลังจากที่กลุ่ม ISIS มีการฆ่าในพื้นที่สาธารณะ ประชาชนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดและเกิดการต่อต้านด้วยการสื่อสารแบบสื่อพลเมืองในเวลาต่อมา

ขณะที่ในพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ก็มักจะมีข้อมูล 2 แบบออกมาเสมอ แบบหนึ่งเข้าข้างฝ่ายรัฐและอีกแบบหนึ่งเข้าข้างฝ่ายขบวนการ ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย ประกอบกับช่วงหลังมานี้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่มีสีสันและสนุกสนานจนเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้ขณะนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีแนวโน้มว่า มีการเข้ามาเชื่อมโยงของขบวนการ ISIS ก็ตาม แต่หนังเรื่องนี้ได้สะท้อนความจริงและมุมมองบางอย่างที่สามารถ รับมือกับสถานการณ์ในอนาคตได้

อิมรอน ซาเหาะ