147 ปี พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตอนที่ 6 ( ตอนจบ )”นักปกครอง นักบริหารดีเด่นในรอบ 100 ปีของกระทรวงมหาดไทย”

0
1843

โดย : ภัทรพร สมันตรัฐ

ภายหลังจากเกษียณอายุราชการในปี 2475 พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านของท่านที่จังหวัดสตูล และดำเนินงานทางการเมืองต่อไปในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในการดูแลทุกข์สุขและสนับสนุนประชาชนชาวจังหวัดสตูลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีเช่นที่เคยทำมา จนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดสตูล เป็นรัฐมนตรี และเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามลำดับ

ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ประชาชนชาวจังหวัดสตูลมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยวิธีรวมเขตจังหวัด ให้มีผู้แทนตำบลมาเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏว่า พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดสตูล ( สำนักพิมพ์มติชน 2526 : 11-13 ) ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาถึง 3 ชุดคือเมื่อ พ.ศ.2476 พ.ศ.2478 และพ.ศ.2480 ( สำนักการประถมศึกษาจังหวัดสตูล 2533 : 33 )

นอกจากนั้น ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของกองประสานราชการ กระทรวงมหาดไทย และเป็นล่ามพิเศษ( ภาษามาลายู) เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิดลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี พ.ศ.2502

 

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (กลางภาพ) กำลังเดินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายงานแปลในฐานะล่ามภาษามาลายู
นายสุนทร สมันตรัฐ เทศมนตรีเทศบาลเมืองสตูลขณะนั้น ทูลเกล้าฯถวายสิ่งของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9

ตลอดอายุของท่าน ได้ปฏิบัติงานดูแลความเป็นอยู่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดสตูลทุกเพศทุกวัย โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา ด้วยความรักแลผูกพันใกล้ชิดเหมือนญาติ ชาวสตูลยุคนั้นเรียกท่านติดปากว่า “เจ้าคุณสมันต์” ท่านได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ให้แก่จังหวัดสตูลและประชาชนตลอดระยะเวลา 74 ปี ท่านได้รับราชการสนองพระราชกิจของพระมหากษัตริย์ไทยรวม 5 รัชกาล ด้วยความจงรักภักดีอย่างเต็มเปี่ยม ท่านเป็นผู้วางรากฐานให้เมืองสตูลเป็นปึกแผ่นมั่นคง จึงมีความสงบสุขร่มเย็นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ท่านเป็นนักปกครองที่มีความสามารถและมีความใกล้ชิด สนใจทุกข์สุข ออกเยี่ยมเยียนราษฎรทุกหมู่บ้านทั้งใกล้และไกล เนื่องจากท่านมีความสามารถในการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษามาลายูกลาง ทำให้เป็นที่เชื่อถือของราษฎรที่เป็นชาวไทยและชาวมาลายูพื้นถิ่น ท่านให้คำแนะนำราษฎรให้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ สามัคคีกัน ยึดมั่นในหลักศาสนาของทุกศาสนาเป็นที่ตั้ง

ท่านมีกุศโลบายและมีสายตายาวไกลในการรักษาดินแดนไทยด้วยวิธีการละมุนละม่อม โดยการให้ชาวน้ำที่อาศัยตามเกาะแก่งต่างๆในทะเลและมีชีวิตร่อนเร่ไปในทะเล ได้แก่เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง ขึ้นมาปลูกบ้านเพื่อเป็นที่พักอาศัยบนพื้นที่เกาะให้เป็นหลักแหล่ง และปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร มีโรงเรียนสอนให้ลูกหลานได้มีการศึกษา สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทย รวมทั้งจัดบริการของรัฐเช่นสถานีอนามัย จัดตั้งหน่วยงานดูแลคุ้มครองให้ชาวน้ำได้รับการดูแลให้มีความเป็นอยู่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากรัฐไทย โดยที่ตัวท่านเองออกเรือเดินทางไปเยี่ยมชาวน้ำเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดมีความผูกพันกับรัฐไทย เพื่อป้องกันการรุกคืบจากลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษ ที่เพิ่งยึดครองมาลายาและทำสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับมาลายาของอังกฤษในปี 2451

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศเกียรติคุณให้ อำมาตย์เอก พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ เป็น”นักปกครอง นักบริหารดีเด่นในรอบ 100 ปีของกระทรวงมหาดไทย” โดยพิจารณาจากผลงานในด้านต่างๆดังที่ได้กล่าวมาในตอนที่ 2 – 4 ข้างต้น