147 ปี พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตอนที่ 3 ผลงานด้านการคมนาคม

0
1458

 

โดย : ภัทรพร สมันตรัฐ

จากการที่ท่านเดินทางออกไปพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ท่านทราบว่า ปัญหาด้านการคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และทำให้ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการภาครัฐ ท่านจึงให้มีการตัดถนนขึ้นหลายสาย เช่น
– ถนนแยกจากถนนสายด่านเกาะนกไปเจ๊ะบิลัง
– ถนนสายฉลุงถึงตำบลควนโพธิ์
– สายสนามบินเข้าถึงหมู่บ้านท่าจีนและแยกไปเกตรี
– สายหมู่บ้านควนสะตอถึงบ้านกุบังปะโหลด
– ถนนสายอำเภอละงูถึงอำเภอทุ่งหว้า
ซึ่งถนนทุกสายดังกล่าวยังคงเป็นเส้นทางการเดินทางหลักของประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้สามารถเดินทางติดต่อถึงกันได้โดยสะดวกรวดเร็ว มีการพัฒนาเศรษฐกิจเข้าไปในพื้นที่อย่างทั่วถึง

จากบันทึกประวัติย่อของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ.ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทางจังหวัดสตูล รวบรวมโดยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (สมาชิกวุฒิสภาปัจจุบัน) ซึ่งในเวลานั้นเป็นข้าหลวงจังหวัดสตูล ได้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมในจังหวัดสตูล ในยุคแรกๆที่ท่านเป็นปลัดจังหวัดสตูลไว้ว่า

“การถนนหนทางในจังหวัดสตูลเวลานั้น มีถนนสั้นๆแต่เฉพาะในตัวเมือง 2-3 สายเท่านั้น ส่วนถนนยาวที่ติดต่อตามตำบลได้มีอยู่สายเดียวคือ จากตัวจังหวัดถึงตำบลควนกะโดน หรือที่เรียกว่าตำบลดุสน ยาวประมาณ 20 กิโลเมตร แต่ยังไม่สมบูรณ์ เป็นถนนดิน มีรถม้าและเกวียนเทียมโคกระบือใช้ขนส่งเป็นพาหนะ นับว่าถนนหนทางในสตูลเวลานั้นยังเป็นถนนถมดิน ใช้ได้เพียงบางฤดูเท่านั้น ยังไม่สะดวก เวลานั้นยังอยู่ในระยะแคบ ติดต่อไปตามหัวเมืองยังต้องใช้เดินตามทางป่าดงที่เต็มไปด้วยทุรกันดาร ใช้การหาบหามสิ่งของติดตัวไปมา และกินเวลาตั้งหลายๆวัน ถ้าต้องการจะไปกรุงเทพฯ หรือมิฉะนั้นต้องใช้ช้างเดินทางป่า มาขึ้นรถไฟที่สถานีห้วยลึกทางจังหวัดสงขลา ระยะทางถึง 3-4 วัน

ส่วนการติดต่อทางมณฑลภูเก็ต เดิมทางราชการใช้เรือไฟหรือเรือใบไปมารับสินค้าได้สะดวกดี เพราะฉะนั้นทางราชการจึงต้องมีเรือกลไฟเดินเมล์รับส่งสินค้า ในระหว่างจังหวัดสตูลกับปีนังหนึ่งลำ ชื่อเรือมำบัง ขนาดระวางหนัก 50 ตัน ครั้นเมืองสตูลมาขึ้นกับมณฑลภูเก็ต ท่านเจ้าคุณรัษฎานุประดิษฐ์ได้ให้เรือกลไฟเพิ่มมาอีกลำชือศรีสุนทร เป็นเรือเดินทะเลมีระวางบรรทุก 35 ตัน เพื่อใช้ในราชการ ต่อมาเรือลำนี้แปลงเป็นเรือเมล์ เดินระหว่างหัวเมืองในมณฑลภูเก็ต เพื่อรับส่งสินค้าระหว่างสตูล ตรัง กระบี่และภูเก็จ เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า เกาะยาว

ส่วนถนนในจังหวัดสตูลนั้น ท่านให้ซ่อมแซมให้ใช้ได้ทุกๆสาย และได้คิดขยายถนนต่อไป จะเป็นประโยชน์ในการค้าขายและติดต่อไปมาได้สะดวก ทั้งเป็นการบำรุงฐานะของราษฎรให้ได้อยู่ดีกินดีเพิ่มพูนขึ้น ทั้งจะเป็นทางปราบปรามโจรผู้ร้ายได้สะดวก. พลเมืองจะได้ทำการเพาะปลูกให้เกิดสินค้าขึ้นได้มากๆ ถ้าไม่เปิดถนนให้ติดต่อกันได้สะดวกแล้ว. นับว่าบ้านเมืองมืด ราษฎรยากจน โดยเหตุนี้ บรรดาผู้ปกครองหัวเมือง ทางมณฑลภูเก็ตในเวลานั้น ต่างมีความเป็นแนวเดียวกัน บำรุงถนนหนทางขึ้นเป็นอันมาก โดยอาศัยขอแรงพลเมือง ชี้แจงและใช้กุศโลบายต่างๆกัน แนะนำพลเมืองในเรื่องการทำถนน แต่ก็ไม่รู้สึกว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนประการใด บ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนบัดนี้

แต่เรื่องการทำถนนเวลาในนั้น เขาเรียกร้องทำกันเป็นฤดูกาลที่หมดการทำมาหากินแล้ว เช่นในฤดูแล้งคราวละ 2-3 วันบ้าง ทำถนนตัดใหม่บ้าง บำรุงถนนเก่าที่ชำรุดบ้าง นายอำเภอและปลัดจังหวัดเป็นผู้วางแนวและกรุยทาง แล้วกะกำลังคนทำตามระยะทางที่ยากง่ายที่กำหนดไว้ แล้วลงมือทำพร้อมกัน มีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ปลัดจังหวัด ข้าหลวง ผลัดเปลี่ยนกันไปตรวจ มียารักษาโรค มีแพทย์หลวงและแพทย์ประจำตำบลคอยตรวจคนป่วยไข้ ส่วนตำรวจภูธร นายอำเภอ ปลัดจังหวัด และกรมการจังหวัดไปตรวจท้องที่ ดูทุกข์สุขของหมู่บ้าน มิให้เกิดโจรผู้ร้าย ส่วนเครื่องมือทำการ เช่น ขวาน จอบ เป็นของหลวง และจ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละ 50 สตางค์ เพื่อมิให้เกิดการเดือดร้อน

ทั้งนี้พิเคราะห์ดู ราษฎรก็เต็มใจกระทำทั่วหน้ากัน เพราะเกิดผลแก่ตนเองที่ได้ประโยชน์จากการใช้ถนน และการทำสวนทำนาได้สะดวกดี เกิดประโยชน์อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้จะมีบ้างที่บิดพลิ้ว ก็เฉพาะพวกที่เกียจคร้านไม่เอาการเอางานเท่านั้น…”

*****ภาพประกอบที่ เป็นภาพการ”ขอแรง” ราษฎรทำถนนในจังหวัดปัตตานี ช่วงที่นายเติมศักดิ์ สมันตรัฐบุตรชายของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ใช้วิธีขอแรงราษฎรทำถนนแบบเดียวกับที่บิดาของท่านเคยทำมา****