147 ปี ชาตกาล พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตอนที่ 2 “บิดาการประถมศึกษาเมืองสตูล”

0
1481

 147 ปี ชาตกาล พระยาสมันตรัฐบุรินทร์  ตอนที่ 2   “บิดาการประถมศึกษาเมืองสตูล”
โดย ภัทรพร สมันตรัฐ

 พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยมีการเร่งรัดให้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อสอนหนังสือขึ้นในตำบลต่างๆในจังหวัดสตูล แทนการสอนภาษามาลายูเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้งชายหญิงในท้องที่ต่างๆ สามารถเข้าเรียนหนังสือไทย ด้วยสายตาที่กว้างไกล ท่านได้กันพื้นที่ให้โรงเรียนมีเนื้อที่ส่วนหนึ่งไว้สอนวิชาเกษตร และสามารถขยายกิจการการศึกษาในวันข้างหน้า ทำให้ราษฎรจังหวัดสตูลส่วนใหญ่นำบุตรหลานทั้งชายและหญิงเข้าเรียนหนังสือ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่ไปกับการเรียนหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และแก้ไขความเชื่อผิดๆ ที่ว่าชายหญิงเรียนร่วมกันจะเป็นบาป ท่านได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง โดยส่งบุตรสาวของท่าน เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนร่วมกับเด็กนักเรียนอื่นๆด้วย. ส่งผลให้เด็กมุสลิมในจังหวัดสตูลได้มีโอกาสเข้ารับการการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และสามารถประกอบอาชีพรับราชการเป็นจำนวนมาก ชาวสตูลยกย่องให้ท่านเป็น ” บิดาการประถมศึกษาเมืองสตูล” นอกจากนี้ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

ท่านได้ดำเนินการตามแนวทางของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในเรื่องการจัดการการศึกษาในจังหวัดสตูล ดังปรากฏในตอนหนึ่งที่ท่านได้บันทึกไว้ใน “ประวัติย่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ( คอซิมบี๊ ณ.ระนอง ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทางจังหวัดสตูล รวบรวมโดยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (สมาชิกวุฒิสภาปัจจุบัน) ซึ่งเวลานั้นเป็นเป็นข้าหลวงจังหวัดสตูล” โดยระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในสมัยนั้นไว้ว่า

การศึกษาในจังหวัดสตูลเวลานั้น นับว่ายังไม่มีโรงเรียนสำหรับที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนในจังหวัดนี้เลย นับว่าการศึกษาของจังหวัดนี้ยังไม่มีการเริ่มต้น การศึกษาของพลเมืองในเวลานั้น ก็มีเพียงพวกครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนกันอยู่ตามหมู่บ้าน และตามสุเหร่าบางแห่ง หนังสือที่เรียนนั้นเป็นหนังสือภาษาอาหรับ คือกุระอ่าน ซึ่งเกี่ยวแก่ทางศาสนา และในที่บางแห่งก็มีที่สอนภาษาหนังสือพื้นเมืองซึ่งเรียกว่า หนังสือมาลายูตามแบบโบราณเท่านั้น ส่วนหนังสือไทย ไม่มีการสอนเลย ไม่มีใครใช้หนังสือไทยเวลานั้น เพราะทางราชการใช้หนังสือมาลายูเป็นหนังสือราชการทั่วไป ตามสถานที่ราชการเวลานั้นต้องมีล่ามหรือเสมียนที่เขียนหนังสือไทยได้ เป็นบางคนโดยเฉพาะเท่านั้น”

ส่วนราษฎรทั่วไปของจังหวัดนี้ ใช้ภาษาที่พูดกันโดยทั่วไปตามพื้นเมือง แบ่งได้สองพวก
-พวกหนึ่งตามชายทะเลทั่วไปถึงในเมือง โดยมากพูดภาษามาลายู
-พวกที่สอง ราษฎรตำบลตอนเหนือทั่วไป พูดภาษาไทยปักษ์ใต้โดยมาก
เหตุเหล่านี้เนื่องมาจากเขตแดนติดกับจังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา เป็นต้นใช้พูดภาษาไทย ส่วนพวกชายทะเลนั้นโดยมากติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในเครือญาติ และการไปมาค้าขายกับเมืองปลิศ เมืองเกดะห์ ก็ใช้ภาษาพูดกันเป็นภาษามาลายูเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเทียบกันแล้ว ในสองภาษาที่ใช้กันอยู่ในจังหวัดนี้ ก็นับว่าภาษาไทยทางใต้ ส่วนพวกชายทะเลนั้นโดยมากติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในเครือญาติ และการไปมาค้าขายกับเมืองปลิศ เมืองเกดะห์ ก็ใช้ภาษาพูดกันเป็นภาษามาลายูเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเทียบกันแล้ว ในสองภาษาที่ใช้กันอยู่ในจังหวัดนี้ ก็นับว่าภาษาไทยทางใต้ ใช้กันจำนวนมากกว่าภาษามาลายู เพราะจำนวนมากกว่ากัน ทั้งการไปมาติดต่อก็สะดวกกว่ากัน

โดยเหตุดังกล่าวนี้ ท่านเจ้าคุณรัษฎานุประดิษฐ์ฯจึงได้จัดการริเริ่มให้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นในจังหวัดนี้โดยด่วน แต่ท่านจัดขึ้นอย่างบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น คือสอนภาษาควบคู่กันไปทั้งครูไทยและครูมาลายู ส่วนครูภาษาไทยนั้น ท่านจัดครูจากมณฑลภูเก็ต ส่งมาให้ตามความต้องการของจังหวัด ครูที่ส่งมาในชั้นต้นนี้ นับว่าเป็นครูที่ได้รับคัดเลือกส่งมา เป็นผู้ที่สามารถในหน้าที่ของครูที่ดีจริงๆ เพราะการสอนและควบคุมอบรมของครูในครั้งนั้นเป็นผลดีมาก นักเรียนสอบได้ทุกๆปี ปีละมากๆคน

ส่วนครูมาลายูนั้น ก็ได้ใช้ครูที่มีอยู่ตามพื้นเมือง ซึ่งได้รับการศึกษาภาษาไทย ภาษามาลายูในโนงเรียนนั้นด้วย เมื่อสอบได้ก็จะเลื่อนชั้นเป็นบำเหน็จ โรงเรียนในเวลานั้นมีอยู่ในเมืองสองโรงเรียน นอกนั้นตั้งตามอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือตามตำบลใหญ่ๆ โดยจำนวนเงินที่จะได้รับ เพิ่มแต่ละปี ส่วนโรงเรียนมาลายูและภาษาอาหรับกุระอ่านนั้นเกี่ยวกับศาสนา ณ.ตำบลชนบทที่ตั้งสอนกันอยู่ตามประเพณีเดิม ก็คงให้สอนกันต่อไปตามเดิม เพราะเหตัว่ายังมีประโยชน์ พลเมืองรู้จักศีลธรรมดี อีกทั้งทางจังหวัดก็ยังไม่มีกำลังเงินที่จะแผ่การศึกษาไปให้ทั่วถึงกันได้ ในเวลานั้น หาคนที่มีครวามรู้หนังสือไทยเทียบชั้น ม.1ก็ยากเต็มที ต้องรับเมียนพนักงานจากจังหวัดตรัง สงขลา พัทลุง และจังหวัดอื่นมาใช้ในราชการเวลานั้น

สิ่งที่น่ายินดีของครูและเด็กๆตามโรงเรียน เมื่อท่านเจ้าคุณรัษฎานุประดิษฐ์ฯมาตรวจราชการในจังหวัดสตูลคราวใด ท่านต้องแวะเยี่ยมโรงเรียน เข้าตรวจดูการสอนของครูและการศึกษาของนักเรียน และการอนามัยของร่างกายนักเรียน สอบถามนักเรียนให้ตอบคำถามของท่าน และตรวจแถวลูกเสือ เสร็จแล้วท่านให้โอวาทแก่นักเรียนและครู ตลอดถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรที่มาประชุมอยู่ ณ.ที่นั้น ท่านให้รางวัลแก่เด็กๆโดยแจกของเล็กๆน้อยๆบ้าง บางครั้งแจกสตางค์บ้าง ท่านได้ให้เลขาของท่านเขียนเยี่ยมติชมไว้ในสมุดของโรงเรียนทุกๆแห่ง พฤติการณ์ของท่านดังกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุหนึ่งที่กระทำให้เด็กๆนักเรียนและครูรู้สึกกลัวเกรง รักใคร่อย่างลึกซึ้งในกิจวัตรอันดีงามไม่รู้ลืม ตลอดทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้ปกครองเด็กๆนักเรียนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ก็นับว่า ท่านได้กรุณาให้การศึกษาแก่พลเมืองเป็นอย่างดีและถูกต้องเหมาะสมทุกประการ ซึ่งชาวสตูลจะลืมพระคุณอันสำคัญนี้เสัยมิได้เลย”
[ ประวัติย่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ.ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการทางจังหวัดสตูล รวบรวมโดยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (สมาชิกวุฒิสภาปัจจุบัน) ซึ่งเวลานั้นเป็นข้าหลวงจังหวัดสตูล หน้า128-130 ]

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยได้มีส่วนก่อตั้งค่ายลูกเสือเพื่อจัดกิจกรรมลูกเสือในจังหวัดสตูล ซึ่งต่อมาได้มีส่วนร่วมก่อสร้างเป็นโรงเรียนบ้านเกตรี โดยท่านได้บริจาคที่ดินส่วนตัวและได้รับความร่วมมือจากประชนชนในหมู่บ้าน ตัดไม้สร้างอาคารเรียนหลังแรก ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร หลังคามุงจากพื้นอัดดินแน่น ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านควน อ.เมือง จ.สตูล ได้เปิดเรียนปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2473. โดยมีนายเซ่งจู สัตยานุรักษ์ เป็นครูใหญ่ท่านแรก

ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งข้าหลวงจังหวัดสตูลนั้น ท่านได้ให้มีการก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษาทั้งสิ้น17 แห่ง ดังต่อไปนี้
1.โรงเรียนประชาบาลตำบลทุ่งหว้า อำเภอสุไหงอุเป จัดตั้งเมื่อ 1 กรกฎาคม2459 ครูใหญ่คนแรกคือนายเจิม บุนยะสิทธิ์ ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลทุ่งหว้า
2.โรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านจีนก่อตั้งในปี2459 เช่นกัน ครูใหญ่คนแรกชื่อนายเหล็ง น้อมมนัส ครูน้อยชื่อนายรื่น จันทรมณี ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านจีนหรือตำบลฉลุงปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล
3.โรงเรียนประชาบาลตำบลดุสน เปิดสอนเมือวันที่ 1 ธันวาคม 2462. ครูใหญ่คนแรกชื่อนายคล่อง สุขยิ่ง ต่อมามีการยุบตำบลดุสนรวมกับตำบลปันจอร์เป็นตำบลควนโดน จึงย้ายโรงเรียนมาตั้งที่บ้านควนโดน เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนบ้านควนโดน ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลควนโดน
4.โรงเรียนประชาบาลตำบลยะระโตด จัดตั้งเมื่อ1 พฤษภาคม 2464 ครูใหญ่คนแรกคือนายถวิล คชเสนีย์ ครูน้อยชื่อนายรื่น จันทรมณี นักเรียนรุ่นแรกมีจำนวน 13 คน ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านเกาะสาหร่าย
5.โรงเรียนประชาบาลตำบลโกตา กิ่งอำเภอละงู จัดตั้งเมื่อ พ.ศ.2465 ครูใหญ่คนแรกชื่อนายประทีป ณ.ถลาง ภายหลังโรงเรียนถูกยุบเมื่อปี 2506
6.โรงเรียนประชาบาลตำบลควนสะตอ จัดตั้งเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2470 ผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนคือ นายสัน หมินหมัน กำนันตำบลควนสะตอเวลานั้น ครูใหญ่ชื่อนายบรรจง ไตรภพ นักเรียนรุ่นแรกมี 24 คนเป็นชาย19คน หญิง5 คน ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านควนสะตอ
7.โรงเรียนประชาบาลตำบลตันหยงโป เปิดสอนเมื่อวันที่8 ตุลาคม 2471 ครูใหญ่คนแรกคือนายเนื่อง อุรุกชาติ ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านตันหยงโป
8.โรงเรียนประชาบาลตำบลโตละใต้ เปิดสอนเมื่อวันที่1 ธันวาคม 2471 ผู้ดำเนินการก่อตั้งคือขุนโตละภิรมย์ กำนันตำบลโตละใต้เวลานั้น ครูใหญ่คนแรกคือ นายจำนงค์ อโนทัย ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านบ่อหิน
9.โรงเรียนประชาบาลตำบลกาแบง1 กิ่งอำเภอละงู เปิดสอนครั้งแรก1 ธันวาคม 2471 ผู้ดำเนินการก่อตั้งคือนายเจ้ะหมาด ใช้บ้านนายเจ้ะหมาดเป็นที่เรียน ครูใหญ่คนแรกคือนายกระแสร์ ใจสมุทร นักเรียนรุ่นแรกมีถึง55คน เป็นนักเรียนชายล้วน ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านกาแบง
10.โรงเรียนประชาบาลตำบลแหลมแค กิ่งอำเภอละงู เปิดสอนวันที่2 ธันวาคม2472. ครูใหญ่คนแรกคือนายเม่ง ยุ่งกิ้น ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านท่าแลหลา
11.โรงเรียนประชาบาลตำบลสาคร เปิดสอนเมื่อ 1พฤษภาคม2473 ครูใหญ่คนแรกคือนายเซ่งจู สัตยานุรักษ์ ครูน้อยชื่อนายหมาด ปะลาวันนักเรียนรุ่นแรกมี31คนเป็นชาย20คน หญิง11คน เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมีเนื้อที่ถึง 95 ไร่ ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านสาคร
12.โรงเรียนประชาบาลบูเก็ตปัตรี พระยาสมันตรัฐบุรินทร์เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งดังได้กล่าวมาแล้ว นักเรียนรุ่นแรกมี20 คนเป็นชาย15คน หญิง5 คน มีนายเซ่งจู สัตยานุรักษ์เป็นครูใหญ่ นายสุวรรณ หิมวงศ์เป็นครูน้อย ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านเกตรี
13.โรงเรียนประชาบาลตำบลมะหงัง อำเภอทุ่งหว้า ตั้งเมื่อ1 กรกฎาคม2473 ผู้ดำเนินการก่อตั้งคือขุนยงค์มะหงัง (นายเหรบ รักชาติ) ครูใหญ่คนแรกคือนายเปลี่ยน เสตพันธุ์ ครูน้อยคือนายเพื่อม บุญเกิด ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านทุ่งมะหงัง
14.โรงเรียนประชาบาลตำบลละงู ตั้งขึ้นเมื่อวันที่1 พฤศจิกายน2473 ผู้ดำเนินการก่อตั้งคือนายชัย ขวัญทอง กำนันขณะนั้น. ครูใหญ่คนแรกคือนายสีนุ่น ชูรินทร์ ครูน้อยชื่อนายสำรอง รัตนดิลก ณ.ภูเก็ต ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านในเมือง
15 โรงเรียนประชาบาลตำบลกาแบง2 อำเภอละงู ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2473 ผํ้ก่อตั้งคือนายหนอก สนหละ กับนายคง สุวรรณละออง โดยมีนายคง สุวรรณละอองเป็นครูใหญ่และนายสุนันท์ เกษมเป็นครูน้อย ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านสนกลาง
16.โรงเรียนประชาบาลตำบลบาราเกต ตั้งขึ้นเมื่อปี 2475. ผู้ก่อตั้งคือนายเจ๊ะละ ใจสมุทร กำนันตำบลบาราเกต มีหลวงวิเชียรสมบัติเป็นครูใหญ่คนแรก ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านท่าแพ
17.โรงเรียนบ้านกาแบง3 อำเภอทุ่งหว้า ไม่ทราบวันเดือนปีจัดตั้งที่แน่นอน ข้อมูลโรงเรียนระบุว่าก่อตั้งโดยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านบุโบย

ด้วยเหตุที่ท่านได้เร่งรัดสนับสนุนให้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาตลอดสมัยที่ท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จนมีโรงเรียนประชาบาลเกิดขึ้นถึง 17 แห่ง ท่านจึงได้รับการยกย่องเป็น ” บิดาการประถมศึกษาเมืองสตูล”


________________________
ประวัติพระยาสมันตรัฐบุรินทร์
ตอนที่ 2 โดยภัทรพร สมันตรัฐ