มาเรียนภาษามลายูกันเถอะ รับรองไม่ผิดหวัง

0
1306

    สมาคมประชาคมอาเชี่ยน:

  สถานการณ์การตื่นตัวของคนไทยในการเข้าร่วมสมาคมประชาคมอาเชี่ยนในระยะหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ ดรสุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ทำให้ผู้คนให้ความสนใจกับภาษาของชาติต่างๆในอาเชี่ยน เช่น ภาษามลายูภาษาพม่าและภาษาเวียตนาม เป็นต้น หลายสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือแนวภาษาอาเชี่ยนออกมาป้อนตลาดและสถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในอาเชี่ยนเพิ่มเติม ถนนการศึกษาทุกสายจึงมุ่งตรงสู่ภาษามลายู ที่มีประชากรเฉียด 400 ล้านคนทั่วโลกที่ใช้ภาษาในตระกูลนี้

สมุดคู่มือภาษามะลายู:

ความจริงแล้ว การตื่นตัวที่จะเรียนรู้ภาษามลายูในประเทศไทยมีมานานแล้วตั้งแต่ในอดีตมากกว่า 80 ปีก่อนโดยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัชายแดนใต้เป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายูในชีวิตประจำวันด้วยเหตุนี้ กรมวิชชาการ กระทรวงธรรมการ ซึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน จึงได้จัดพิมพ์ “สมุดคู่มือภาษามะลายู” จำนวน 1,000 ฉบับในปี2475 โดยรองอำมาตย์ตรีขุนจรรยาวิธาน (ยุโสะ มะโรหบุตรเป็นผู้เรียบเรียง

ความเป็นมาและเจตนารมณ์:

 มีบันทึกสำคัญจากอดีตเมื่อ พระยาเมธาธิบดี อธิบดีกรมวิชชาการได้ชี้แจงถึงการจีดพิมพ์ “สมุดคู่มือภาษามะลายู ในครั้งนี้ตอนหนึ่งว่าเมื่อพ.. 2456 ท่านเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เคยปรารภแก่ข้าพเจ้าเมื่อครั้งยังรับหน้าที่เป็นเจ้ากรม กรมราชบัณฑิต อยู่ว่าท่านใคร่จะส่งเสริมภาษาจีนที่กำลังดำริจัดให้มีครูสอนอยู่ในโรงเรียนพณิชยการ ข้าพเจ้านึกออกว่าท่าจะให้ดี ก็แต่งหนังสือแบบ “แฮนด์บุ๊ก” คือสมุดคู่มือสำหรับให้ใช้ได้ทั่วไปจึงจะเป็นการส่งเสริมสมประสงค์ของท่าน ท่านเห็นชอบในความคิดอันนี้ จึงได้ให้เจ้าพนักงานในกรมราชบัณฑิตในครั้งนั้นเรียบเรียงสมุดคู่มือภาษาแต้จิ๋วขึ้นเล่ม 1 มีทั้งอักษรไทยและจีนควบกันไปพร้อมกับบอกสำเนียงให้อ่านด้วย …..มาบัดนี้มีผู้ปรารภแก่ข้าพเจ้าหลายท่านว่าใคร่จะได้แบบตำราอย่างนั้น สำหรับเรียนภาษามะลายูบ้างข้าพเจ้าเห็นจะเป็นประโยชน์ เพราะมะลายูเป็นภาษาที่ใช้อยู่ในแถบใต้พระราชอาณาจักรตั้งแต่ปัตตานีตลอดไปจนถึงปีนังสิงคโปร์ ซึ่งเป็นดินแดนติดต่ออยู่กับประเทศเรา สมควรที่จะได้รับความส่งเสริมยิ่งนัก จึงนำความทั้งนี้กราบทูล พระวรวงศ์เธอฯ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ก็ทรงเห็นชอบด้วย….ด้วยหนังสือมะลายูไม่ใคร่มีแพร่หลายในประเทศเราอย่างอักษรจีนนั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งตัวพิมพ์อักษรมะลายูไม่ปรากฏว่ามีขายในเมืองเราถ้าจะทำให้ได้จริงๆ ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ และจะต้องเที่ยวหาผู้เรียงด้วย จะทำให้ราคาสมุดคู่มือนี้แพงโดยใช่เหตุ

น่าเสียดาย แต่ทว่า….ประโยชน์ก็ยังมหาศาลยิ่งนัก:

น่าเสียดายที่ “สมุดคู่มือภาษามะลายู” เล่มนี้ไม่มีตัวอักษรมลายูกำกับเช่นเดียวกับ “สมุดคู่มือภาษาแต้จิ๋ว” แต่ทว่า…. ประโยชน์ที่ได้จากคู่มือเล่มนี้ก็ยังมหาศาลยิ่งนัก เนื่องจากมีการจัดทำบัญชีเรื่องต่างๆไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนถึง 56 เรื่อง ทำให้สะดวกในการศึกษาค้นคว้า คือมีตั้งแต่วิธีอ่านสำเนียงมะลายู ไวยกรณ์ ตัวอย่างการแต่งประโยคว่าด้วยการค้า ว่าด้วยอาหารและเครื่องดื่ม และคำสนทนาในโอกาสต่างๆเป็นต้น จะขอยกตัวอย่างส่วนหนึ่งจากเรื่อง ‘คำสนทนาที่ใช้อยู่เสมอ‘ ดังนี้

สบายดีหรือ?            อาปา ฆาบะรฺ (มีข่าวอย่างไร)

สบายดี                    ฆาบะรฺ บาอิก (มีข่าวดี)

ขอโทษ                    มาอฺญัฟกัน

ขอบใจ                    ตรีมา กาเส็ฮ

ไม่เป็นไร                 ตีดักหฺ อาปา

โปรดกรุณา            โตโล็ง ละฮฺ

   คงจะไม่เกินเลย ถ้าจะชวนๆกันสำหรับผู้อยู่ในข่ายจะได้ประโยชน์ ให้มาเรียนภาษามลายูในยามสะดวก เก็บสะสมต้นทุนเพิ่มเติมเข้าไว้ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน เราจะรู้ได้ยังไงว่าภาษามลายูจะไม่บูม เป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างกระทันหันเหมือนกับละครอิงประวัติศาสตร์ออเจ้า ‘บุพเพสันนิวาส‘ ที่คนฮือฮากันทั้งบ้านทั้งเมือง เมื่อถึงเวลานั้น ประโยชน์อันยิ่งใหญ่มหาศาลก็จะตกแก่ผู้คว้าเอาไว้ก่อนอย่างแน่นอน

 สมาน อู่งามสิน  เรื่องเล่าจากคนขายหนังสือ @ชายแดนใต้