กุ้งเตรียมปิดสะพานเปรม !! หาก “บิ๊กตู่” ไม่ช่วยขยับราคา ดีเดร์ 10 พค. นี้

0
4675

กุ้งเตรียมปิดสะพานเปรม !! หาก “บิ๊กตู่” ไม่ช่วยขยับราคา ดีเดร์ 10 พค. นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ได้มีตัวแทนเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้ง 6 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง และพัทลุง จำนวน กว่า 60 คน นำโดยนายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราช  และนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายวีระ จันทร์นวล ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด  ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยมี นายเอกศักดิ์ อารยนันท์ พานิชย์จังหวัดสงขลา และนายธนาวุฒิ กุลจิจติชนก ประมงจังหวัดสงขลา เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รับหนังสือพร้อมกับเชิญตัวแทนเกษตรกรผู้เลี่ยงกุ้ง กว่า 50 คน ขึ้นไปประชุมหารือที่ห้องประชุม บนชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา

โดยบรรยากาศในที่ประชุมหารือ มีแกนนำเกษตรกรต่างสะท้อนปัญหาหากสถานการณ์ราคากุ้งขาวแวนาไมยังตกต่ำอย่างรุ่นแรง อยู่ในขณะนี้ โดยเฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ 120 บาท ที่ขนาด 100 ตัว ต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งหากราคากุ้งยังตกต่ำและต้นทุนผลิตยังสูง เกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงได้อีกต่อไป และจะประสบปัญหาล้มละลายจนต้องสูญเสียอาชีพเลี้ยงกุ้งไปอย่างแน่นอน

ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณาอนุมัติ โครงการแทรกแซงราคากุ้งตกต่ำในครั้งนี้ โดยวิธีการรับจำนำกุ้งขาวแวนาไมจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือพิจารณาอนุมัติโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งหรือมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำเป็นการเร่งด่วน โดยกำหนดให้ได้ราคากุ้งที่ราคา 100 ตัว/กก. ราคา 130 บาท ,90ตัว /กก. ราคา 140 บาท ,80ตัว/กก. ราคา 150 บาท, 70ตัว/กก. ราคา 160 บาท ,60 ตัว/กก. ราคา 180 บาท ,50ตัว/กก.ราคา 200 บาท,40ตัว/กก.ราคา 220 บาท,และ30ตัว/กก.ราคา 240 บาท และยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจัดหาหรือสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ยหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการห้องเย็นเพื่อประคับประคองความเดือดร้อน

โดยหลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะมาทวงถามคำตอบอีกครั้ง และหากยังไม่มีการพิจารณาหรือไม่มีคำตอบถึงมาตรการการช่วยเหลือใดๆ  เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจากทั่วทั้งภาคใต้ จะยกระดับการชุมนุมโดยใช้สะพานติณสูลานนท์ เป็นยุทธศาสตร์ ต่อไป

ภาพ / ข่าว มาหาหมัด มะลาเฮง ทีมข่าว @ชายแดนใต้ จ.สงขลา