กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาตัดสินจำคุก นายมาหาดี มะลี

0
1032

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาตัดสินจำคุก นายมาหาดี มะลี

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มีค. ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พันเอกธนาวีร์  สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าชี้แจงกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาตัดสินจำคุก นายมาหาดี  มะลี

จากกรณีเหตุการณ์คนร้ายได้ลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ขณะทำการรักษาความปลอดภัย ขบวนรถคณะกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารพราน ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 6 นาย เหตุเกิดบริเวณถนนสาย 418 ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และต่อมาเจ้าหน้าที่ทำการติดตามจับกุม นายมาหาดี  มะลี มาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิพากษาให้จำคุก นายมาหาดี  มะลี เป็นเวลา 37 ปี 36 เดือนและให้ชำระค่าสินไหมทดแทน 2,500,000 บาท (สองล้านห้าแสนบาท) และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.32/59 คดีหมายเลขแดง ที่ อ.2496 /59 โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายมาหาดี  มะลี จำเลย ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย อั้งยี่ พ.ร.บ.อาวุธปืน และวัตถุระเบิดฯ, พยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฯลฯ โดยพิจารณาลงโทษจำคุก นายมาหาดี  มะลี  33 ปี 20 เดือน และให้ชำระค่าสินไหมทดแทน 2,500,000 บาท (สองล้านห้าแสนบาท)

พฤติกรรม นายมาหาดี  มะลี  เป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา มีประวัติการก่อเหตุความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินมาแล้วหลายครั้ง และเคยถูกจับกุมมาแล้ว2 ครั้ง

ครั้งแรก : เมื่อวันที่7สิงหาคม 2557 เกี่ยวข้องอุปกรณ์ระเบิดที่ตรวจยึดในพื้นที่ ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่5 มิถุนายน 2557ยังไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่ฟ้องได้จึงปล่อยตัวไป

ครั้งสอง : ก่อเหตุระเบิดขบวนรถคณะกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) บนถนนสาย 418 ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ทำให้อาสาสมัครทหารพราน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 นาย จากการสอบสวนติดตามขยายผลจาก สารพันธุกรรม (DNA) ที่กล่องควบคุมระเบิดในที่เกิดเหตุตรงกับ นายมาหาดีฯ นำไปสู่การจับกุม และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ดังกล่าว

การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของศาลซึ่งวินิจฉัยตามพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่ทำให้ศาลเชื่อว่าได้กระทำความผิดจริงจึงมีคำพิพากษาให้ลงโทษดังกล่าว โดยหวังว่าองค์กรจัดตั้งหรือกลุ่มที่ชอบแอบอ้างว่าเป็นนักปกป้องสิทธิคงไม่ออกมาต่อต้านหรือพยายามใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมาย ดังเช่นหลายๆกรณีที่ผ่านมาเพราะอาจทำให้สังคมเชื่อว่าเป็นกลุ่มกลับกลอกที่ไม่เคยมีอุดมการณ์เพื่อประชาชนตามที่พยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ภาพ / ข่าว มูกะตา หะไร @ชายแดนใต้ จ.ยะลา