ยะลา -ลมกระโชคแรงทำต้นทุเรียนขนาดใหญ่กำลังออกลูก หักโค่นเกษตรอำเภอเบตงรุดให้กำลังใจสำรวจความเสียหาย

0
859


ยะลา-ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เกืดฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรง เมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมาทำให้ต้นทุเรียนหักโค่น ผลทุเรียนร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ด้านชาวสวนทุเรียน เร่งหาวิธีป้องกัน ต้นทุเรียน และลูกทุเรียน ที่จะเก็บขายได้ในช่วงสิ้นเดือนนี้ เกษตรอำเภอเบตงรุดลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้กำลังเกษตรกร
วันนี้ (6 ก.ค.65) ภายหลังจากเกิดฝนตกหนัก และมีลมกระโชกแรงเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ที่กำลังออกลูก หักโค่นลงมา ผลทุเรียนร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก หลังได้รับรายงาน นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง พร้อม จนท.เกษตรอำเภอเบตง ลงพื้นที่ ม.2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา สำรวจความเสียหายสวนทุเรียนของนายวิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ นายวิสุทธิ์ โชตน์ธนานันต์ เจ้าของสวนทเรียน เล่าว่า เมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกหนัก และมีลมกระโชกแรงในพื้นที่ อ.เบตง ทำให้ต้นทุเรียนหมอนทองขนาดใหญ่ที่กำลังออกลูก หักโค่นลงมา ทำให้ผลทุเรียนร่วงหล่น จำนวน 1 ตัน จากนั้นตนได้ให้คนงานในสวน ช่วยกันผูกเปลผลทุเรียน เร่งผูกโยงกิ่งต้นทุเรียนป้องกันกิ่งฉีกหัก ป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักลมพัดแรงในระยะนี้ รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย เนื่องจากยังไม่ไว้ใจต่อสภาพอากาศในช่วงนี้ ที่อาจจะส่งผลกระทบให้กับต้นทุเรียนได้ อย่างน้อยก็ยังช่วยบรรเทาได้บ้าง โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนกำลังใกล้ที่จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนสิ้นเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเตรียมจะส่งออกขาย ต้องหาทางป้องกันอย่างดีที่สุด เพื่อให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ต้นทุเรียนในสวนของตนหักโค่นลงมาจำนวน 5 ต้น จากฝนที่ตกหนักและลมกระโชกแรง ส่วนผลทุเรียนที่ร่วงหล่นจะนำไปวางไว้รอบๆโคนต้นทุเรียนแล้วราดด้วยน้ำ เพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์มีประโยชน์ต่อต้นทุเรียนอย่างมาก เพราะในผลทุเรียนมีทั้งโปรตีน น้ำตาล เป็นจำนวนมาก สำหรับค่าเสียหายครั้งนี้ ประมาณ 120,000 บาท
นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง กล่าวว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย

ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติและผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริงเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป
ข่าว..เจษฎา สิริโยทัย อ.เบตง จ.ยะลา