กรมปศุสัตว์ พร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งด้านปศุสัตว์

0
423

กรมปศุสัตว์พร้อมรับมือภัยแล้งด้านปศุสัตว์ แจ้งทุกหน่วยในสังกัดทั่วประเทศ มุ่งสร้างการรับรู้สถานการณ์ภัยแล้งให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เตรียมความพร้อมมาตรการ 4 ด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยแล้งพร้อมส่งเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขอย่างทันที

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรับมือการเกิดภัยแล้ง ซึ่งอาจจะส่งผล กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ รวมถึงผลผลิตของสัตว์ของเกษตรกร ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการรองรับปัญหา โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ด้านเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายละเอียดประกอบด้วย

1 ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการภัยแล้งด้านปศุสัตว์

2 ด้านการเตรียมความพร้อม(ก่อนเกิดภัย) มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านปศุสัตว์ ปี2562 ดังนี้

2.1 ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรการปลูกและการใช้ประโยชน์พืชอาหารสัตว์ทางเลือกที่มีให้ท้องถิ่นนั้น

2.2 การสำรองเสบียงสัตว์มีเสบียงสัตว์สำรอง 331,007.02 ตันโดยในคลังเสบียงของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทุกแห่ง 32 แห่งมีเสบียงสัตว์ 6,587.32 ตันในคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล 55 แห่งมีเสบียงสัตว์ 190 ตันและเกษตรกรจำนวน 482 รายได้เตรียมความพร้อมด้านเสบียงสัตว์ 324,229.7 ตัน

2.3 จัดเตรียมถุงยังชีพสำหรับสัตว์เบื้องต้น3,000 ชุด ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วย ยาวิตามินและเวชภัณฑ์  สำหรับการลดความเครียดและบำรุงร่างกายการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

2.4 สำรองยาและเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์ประจำสำนักงานปศุสัตว์เขต 9 เขต

2.5 หน่วยเคลื่อนที่เร็วรวม 119 หน่วย357 คนพร้อมช่วยด้านการรักษาพยาบาลสัตว์ การลำเลียงและขนย้ายเสบียงสัตว์ไปให้ความช่วยเหลือพร้อมยานพาหนะจำนวน 204 คัน

2.6 เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่เตรียมความพร้อมไว้สูงสุดเพื่อเป็นกำลังเสริมในการประสานกับปศุสัตว์จังหวัด

3 ด้านการจัดการในภาวะฉุกเฉิน(ขณะเกิดภัย) จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ระดับกรมหรือWar Room มีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นผู้อำนวยการศูนย์เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งประสานการปฏิบัติงานประเมินความต้องการและความเสียหายที่สำคัญคือหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยและประเมินผลกระทบเบื้องต้น

4 ด้านการฟื้นฟูและเยียวยา(หลังเกิดภัย) สำรวจและประเมินความเสียหายพร้อมให้ความช่วยเหลือ(เป็นเงินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ) อย่างเร่งด่วนภายใน 60 วันตลอดจนการช่วยเหลือฟื้นฟูแปลงพืชอาหารสัตว์และส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 216 รายโดยเป็นโค1,500 ตัวในพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 3 ตำบล 7 หมู่บ้านซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลือแจกเสบียงสัตว์ 13,600 กิโลกรัมนอกจากนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกหน่วยเร่งรัดการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในการป้องกันดูแลปศุสัตว์ของตนเอง ทั้งนี้หากเกษตรกรรายใดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสามารถแจ้งความประสงค์และติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านปศุสัตว์กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์กรมปศุสัตว์

โทร.02-6534553 ,02-6534444 ต่อ3315 หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่นDLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที

ข่าวคณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์