ประมงเดือด ประท้วงชูป้ายข่มรัฐ ยื่น 5 ข้อให้ “บิ๊กตู่” เร่งแก้ ด้านนายกฯประมงแฉส่อทุจริตหน้าด้านๆ

0
1278

ประมงเดือด ประท้วงชูป้ายข่มรัฐ ยื่น 5 ข้อให้ “บิ๊กตู่” เร่งแก้ ด้านนายกฯประมงแฉส่อทุจริตหน้าด้านๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ลานวัฒนธรรมปัตตานี ได้มีชาวประมงกว่า 1,000 คนรวมตัวประท้วงพร้อมชูป้ายที่แสดงถึงความเดือดร้อนและตอบโต้การทำงานของรัฐบาลถึงกฎหมายของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงเร่งด่วน ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับชาวประมงจนไม่สามารถออกทำการประมงได้อย่างสะดวก ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรือประมงใน จ.ปัตตานี เกือบ 1 หมื่นลำต้องหยุดออกหาปลา และปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าโรงงานอุตสากรรม ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงต้องปิดกิจการ สัตว์น้ำในตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเกิดปัญหาการว่างงานในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงเรือประมงบางลำที่ต้องออกหาปลาเพื่อพยุงตัวและป้องกันลูกเรือหนีออกไปทำงานอื่น โดยในวันนี้ชาวประมงกว่า 1,000 คนต่างหยุดเรือเพื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือเป็นการด่วน เนื่องจากที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องจากการประมงของ จ.ปัตตานี เสียหายไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท โดย นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมง จ.ปัตตานี ได้ยื่นหนังสื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและความเดือดร้อนของชาวประมงอย่างแสนสาหัสเนื่องจากการออกประกาศของกรมประมงและบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหา IUU FISHING โดยขาดข้อมูลรอบด้านและส่อไปในทางมิชอบ ผ่าน นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.ปัตตานีเพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ซึ่งหนังสือดังกล่าวชาวประมง ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้ข้อ 1 .ตรวจสอบกระบวนการออกและประกาศบังคับใช้กฎหมาย ของกรมประมง 2 .ให้มีตัวแทนของชาวประมงและผู้ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบนี้ด้วย 3.ให้ระงับการออกประกาศใหม่และชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับที่อยู่ในระยะการตรวจสอบนี้ 4.ให้มีการลงโทษอย่างเหมาะสมตามกระบวนการกฎหมายในกรณีตรวจพบการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐจริง และ 5.แก้ไขปรับปรุงการออกประกาศและบังคับใช้กฎหมาย โดยให้มีกระบวนการ มีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และประกาศบังคับใช้โดยให้มีระยะทดลองผ่อนปรนในการปรับตัวตามข้อกฎหมายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เหมาะสม

ด้าน นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.ปัตตานี กล่าวว่า กระแสกฏหมายมันใหญ่เกินที่จังหวัดจะแก้ไข ตนไม่สบายใจตลอดเวลาที่เห็นความเดือดร้อนของชาวประมง ตนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงทั้งในแง่ของการประสานงานตามอำนาจของตนก็ทำเต็มที่ แต่เพราะบางเรื่องเป็นระดับรัฐบาล ตนจึงไม่สามารถไปถึงจุดนั้น และส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณชาวประมงที่เข้าใจรับได้และยอม มีบางเรื่องที่พวกเราเดือดร้อนและปฏิบัติลำบากตนจะดำเนินการเป็นสื่อกลาง เพื่อให้ถึงรัฐบาลโดยผ่านศูนย์ดำรวธรรม จ.ปัตตานีถึงศูนย์ดำรงธรรมของรัฐบาล อีกทางหนึ่งก็จะรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ถึงรัฐบาล และให้ชาวประมงตั้งเรื่องไปถึงกรมประมงผ่าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจึงขอให้พวกเราสู้ ๆ

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การออกกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายต่อชาวประมงไม่มีการวางแผนและเตรียมความพร้อม ที่สำคัญชาวประมงไม่มีส่วนร่วมในการออกประกาศ เชิญไปประชุมแต่เมื่อออกประกาศก็ไม่ออกตามมติที่ประชุม ที่สำคัญบางประกาศออกมาส่อไปในเชิงทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ที่เอาความเดือดร้อนของชาวประมงเอาเศรษฐกิจของประเทศชาติมาหากิน เช่น ประกาศให้เปลี่ยน VMS ซึ่งเป็นเครื่องมือติดตามเรือ ซึ่งจริง ๆ แล้วเรือประมงได้ติดและใช้มาแล้วเมื่อปี 2558 แต่ปรากฏว่ากรมประมงได้ออกประกาศอีกครั้งให้เปลี่ยนใหม่เป็นระบบใหม่ซึ่งมีราคาแพงกว่าเดิมจาก 25,000 บาทเป็น 50,000 บาทและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนอีก แต่ที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนภายในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่อธิบดีเกษียณไปในปี 2562 มันก็ส่อให้เห็นการทุจริต ที่สำคัญบริษัทที่จะขาย VMS ต้องให้กรมประมงรับรองเท่านั้น เหมือนกับการล๊อคสเป็กทั้งหมด ตนมองว่าใครมาหากินกับความเดือนร้อนของประชาชนและประเทศชาติถือว่าใช้ไม่ได้

อีกกรณี คือ ตาชั่งอิเลคทรอนิค ราคา 395,000 บาท ซึ่งต้องรับรองจากกรมประมงเท่านั้นเอาไปใช้กลางทะเลไม่นานก็เสีย จึงมองได้ว่าน่าจะส่อไปในทางทุจริต และที่มีประกาศจากสำนักนายกว่า ให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ตัดปัญหากรณีถูกกล่าวหาว่า ผู้ประกอบการใช้แรงงานกดขี่และค้ามนุษย์ แต่ปัญหาอยู่ที่ เมื่อไปเปิดแล้วธนาคารใช้ระยะเวลานานต่อวันทำได้แค่ร้อยกว่าบัญชี ที่สำคัญประกาศออกมาบังคับใช้เมื่อ 31 ตุลาคม 2560 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่รู้เรื่อง พึ่งจะทราบจากธนาคารได้เมื่อไม่กี่วัน จึงขอความเป็นธรรมว่ามันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมองให้เห็นถึงความบกพร่องในการออกกฎหมายที่ต้องบังคับใช้ในเรื่องที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมาผลกระทบจากประมงเกิดความเสียหายหลายพันล้านและยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรม ธุรกิจต่อเนื่อง ประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ปัตตานีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากประมงปิดกิจการหลายแห่ง ล่าสุด โรงงานปลากระป๋องยี่ห้อสามแม่ครัวก็จะปิดตามมาอีก ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ภาครัฐควรให้ชาวประมงมีส่วนร่วม อียู ไม่ได้ขอมาก แต่เราเสนอไปมากเพราะข้าราชการบางคนไม่รู้เรื่องโดยเฉพาะกรมประมงและกระทรวงเกษตร

ทีมข่าว @ชายแดนใต้ จ.ปัตตานี